หนึ่งในการทดลองวิทยาศาสตร์บนยาน Blue Ghost ที่ไปลงจอดบนดวงจันทร์และน่าสนใจเป็นอย่างมากคือการทดลองระบบต่อต้านฝุ่นบนพื้นผิวของยานอวกาศ ซึ่งผลการทดลองเรียกได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและสามารถต่อยอดพัฒนาระบบในการต่อต้านการเกาะของฝุ่นตามพื้นผิวต่าง ๆ ได้ในอนาคต
ในปัญหาใหญ่ของการเดินทางกลับไปยังดวงจันทร์ของมนุษยชาติคือเรื่องฝุ่น ซึ่งเกิดจากทั้งเศษอุกกาบาตที่พุ่งชนดวงจันทร์และดินบนดวงจันทร์ที่ถูกอนุภาคจากดวงอาทิตย์พุ่งชนจนเต็มไปด้วยรูพรุน แหลมคม และมีไอออนมาเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก คุณสมบัติของฝุ่นบนดวงจันทร์คือมันยึดเกาะกับพื้นผิวต่าง ๆ ได้ดีมาก อีกทั้งด้วยความแหลมคม ฝุ่นบนดวงจันทร์จึงเป็นอันตรายต่อระบบหายใจของมนุษย์ สร้างความระคายเคืองให้กับเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ ตัวผงฝุ่นยังมีสีเข้มทำให้เมื่อเกาะติดกับพื้นผิวยานอวกาศ จะเกิดการสะสมความร้อนบริเวณพื้นผิวและอาจทำให้เกิดความเสียหายของอุปกรณ์จากความร้อนได้ อย่างเช่นภารกิจอะพอลโล 17 ที่รถยนต์ขับเคลื่อนร้อนเกินไปเนื่องจากฝุ่นไปเกาะบนพื้นผิวของรถ
ในภารกิจ Blue Ghost Mission 1 ภารกิจลงจอดดวงจันทร์ของบริษัท Firefly ภายใต้โครงการ CLPS เป็นหนึ่งในยานอวกาศที่เดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งอุปกรณ์หลายชิ้นบนยานลำนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำการทดลองเกี่ยวกับฝุ่นบนดวงจันทร์ หนึ่งในอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ถูกติดตั้งเพื่อไปทำการทดลองบนดวงจันทร์คือระบบป้องกันฝุ่นด้วยไดนามิกทางไฟฟ้า (Electrodynamic Dust Shield หรือ EDS)
EDS เป็นเทคโนโลยีที่ NASA พัฒนาขึ้นเพื่อทดลองกำจัดฝุ่นที่เกาะบนพื้นผิวโดยอาศัยแรงทางไฟฟ้าผลักมันออกไปจากพื้นผิว โดยไม่ต้องอาศัยการใช้แรงทางกลอย่างการเช็ดหรือถู เทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนาภายใต้โครงการ Game Changing Development ของ NASA และได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบอุปกรณ์ที่จะถูกขนส่งขึ้นไปของภารกิจ Blue Ghost Mission 1 และเดินทางไปถึงดวงจันทร์ตั้งแต่เมื่อ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา
การทดลองนี้จะปล่อยให้พื้นผิวของแผงกระจกและแผ่นระบายความร้อนถูกปกคลุมด้วยชั้นฝุ่นดวงจันทร์ จากนั้นเมื่อเปิดการทำงานของ EDS ฝุ่นเหล่านี้ก็ได้หลุดออกจากพื้นผิวเหล่านั้นโดยทันที ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏจากการทดลองภาพถ่ายก่อนและหลังการเปิดใช้งาน EDS เป็นสิ่งยืนยันว่าระบบนี้สามารถใช้งานได้จริง
แม้ว่าภารกิจ Blue Ghost Mission 1 จะยุติลงไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่ข้อมูลที่ได้จากการทดลอง EDS นั้นจะนับว่าเปิดโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสำรวจดวงจันทร์ และลดอันตรายจากฝุ่นของดวงจันทร์ที่มีผลต่ออายุการใช้งานของอุปกรณ์และสุขภาพของนักบินอวกาศในอนาคต ซึ่งนี่อาจจะเป็นแนวทางในการจัดการปัญหาฝุ่นของดวงจันทร์ที่ยั่งยืนในอนาคตได้
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech