นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) ของสิงคโปร์กล่าวเตือน เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ว่า นโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบทางลบที่ติดตามมาต่อระบบการค้าโลก ครอบคลุมถึงภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เกินกว่ากรอบหลักการทางเศรษฐศาสตร์ใน 3 มิติ คือ

1.ขัดต่อหลักการสำคัญขององค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization)
นโยบายตั้งกำแพงภาษีครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ขัดต่อหลักการ (ทุก) ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง หรือ MFN (Most Favored Nation) หมายถึง การที่ภาคีสมาชิกใดภาคีสมาชิกหนึ่งปฏิบัติต่อทุกประเทศคู่ค้าอย่างเสมอภาคกัน หรือได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งเท่าเทียมกัน
หมายถึงว่า ทุกคู่ค้าจะได้รับหลักประกันว่า จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่ทุกคู่ค้า ไม่ว่าจะมีเศรษฐกิจใหญ่ หรือเศรษฐกิจเล็ก จะมีโอกาสแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรมในตลาดการค้าโลก ซึ่งส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดนโยบายการค้าเสรีในทุกภาคีสมาชิกของ WTO ถึงแม้อาจจะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่แตกต่างกัน
หว่องชี้ว่า นโยบายตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์เป็นการเปิดทางให้ภาคีสมาชิก WTO ปรับเปลี่ยนไปเลือกใช้นโยบายที่แล้วแต่จะตกลงกันเป็นรายประเทศ หรือแล้วแต่ระดับความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน หรือดำเนินมาตรการตอบโต้ ส่งผลให้เสียระบบการค้าเสรีโลก ซึ่งเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่าจะได้รับผลกระทบ หรือแรงกดดันมากกว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ทั้งนี้เนื่องจาก เศรษฐกิจขนาดเล็กมีอำนาจการต่อรองที่จำกัดกว่า ในขณะที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่า หรือมหาอำนาจจะชี้นำนโยบาย หรือกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ โดยพลการ สุ่มเสี่ยงที่กลุ่มเศรษฐกิจขนาดเล็กจะถูกผลักดันให้ชิดติดขอบทาง โดนแซง หรือออกนอกเส้นทางไปเลย ไม่มีส่วนร่วมในการค้า
2.สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามการค้าโลก
หว่องเตือนว่า นโยบายการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 เป็นการเปิดฉากการดำเนินมาตรการตอบโต้ไปมาของประเทศคู่ค้า และลงเอยด้วยสงครามการค้าโลก ติดตามด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

หว่องชี้ว่า กฎหมายภาษีที่สหรัฐฯ ประกาศใช้เมื่อปี 2473 (Smoot–Hawley Tariff Act) ซึ่งกำหนดตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการประท้วงจากหลายประเทศ และหลายประเทศตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า หรือกำหนดมาตรการกีดกันการค้าอื่น ๆ เป็นการตอบโต้ ผลลัพธ์ คือ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในที่สุด
หว่องเตือนว่า กำแพงภาษีที่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 กำหนด ถ้าทรัมป์เดินหน้าอย่างเต็มที่จะเป็นอัตราที่สูงกว่าที่สหรัฐฯ เคยกำหนดภายใต้กฎหมายภาษีปี 2473 ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะรุนแรงกว่ามาก เนื่องจากระบบการค้าโลกขยายตัวกว่าอดีตมาก และห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ก็มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น

หว่องเตือนด้วยว่า เมื่อเดินหน้ามาตรการกีดกันทางการค้าไปแล้ว การถอยกลับจะยุ่งยากกว่ามาก เนื่องจากสภาวะ หรือปัจจัยต่าง ๆ แปรเปลี่ยนไป ไม่คงที่ สภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนส่งผลกระทบลดทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และผู้บริโภคส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และเศรษฐกิจโลกโดยรวมในที่สุด
หว่องยกตัวอย่างผลที่ติดตามมาดังกล่าว กรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) กำหนดค่าธรรมเนียมสินค้านำเข้าจากเยอรมนี และญี่ปุ่นเมื่อปี 2514 โดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อกดดันให้ประเทศทั้งสอง ลดค่าเงินในประเทศตนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มีผลทางลบด้านอื่น ๆ ติดตามมา

หว่องเตือนให้ระวังสงครามการค้า และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ถ้าสหรัฐฯ และจีน สองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของโลกดำเนินมาตรการทางด้านภาษีตอบโต้ซึ่งกันและกัน โดยรอมชอมผ่านการเจรจาน้อยลง ซึ่งถ้าลุกลามเป็นความขัดแย้งทางการค้า และกระทบความสัมพันธ์ทวิภาคี จะมีผลทางลบอย่างมหันต์ต่อเศรษฐกิจโลก
3.ลงเอยด้วยเกม “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ในเวทีโลก
หว่องชี้ว่า นโยบายตั้งกำแพงภาษีของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะนำไปสู่ระบบกีดกันการค้าไปทั่วโลก โดยยิ่งนานวัน ประเทศต่าง ๆ จะยกเลิกความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน แต่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนก่อน เกิดกรอบความคิดเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งอาจลงเอยด้วยการใช้ความก้าวร้าว บีบบังคับฝ่ายอื่น
หนังสือพิมพ์เดอะสเตรทไทมส์ของสิงคโปร์รายงานคำเตือนของหว่องด้วยว่า นโยบายกีดกันการค้าทั่วโลกรอบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นเป็นไปในลักษณะที่ไร้ความแน่นอน และไม่อาจประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมการไว้ก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบทั้งต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และผู้บริโภค อีกทั้งระบบการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศด้วย