อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีต้นตาลมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา และผู้คนที่นี่ใช้ประโยชน์จากทุก ๆ ส่วนของต้นตาลมานานนับร้อยปี
ที่บ้านหลักร้อยและบ้านสันเทียะ มีผู้คนที่นี่ทำน้ำตาลสดและน้ำตาลแผ่นเป็นอาชีพเสริม คนหนุ่มอย่าง แทน พิสันเทียะ ที่พ้นวิกฤติช่วงโควิดระบาดด้วยการกลับบ้านมาขึ้นต้นตาล เพื่อทำน้ำตาลสด สามารถทำรายได้ได้วันละหลายร้อยบาท โดยต้นตาลมีทั้งของที่บ้านปลูกไว้ และเช่าต้นตาลเพื่อนบ้านในราคาที่ถูกเหมือนได้เปล่า
นอกจากน้ำตาลสดแล้ว คนที่นี่ยังทำน้ำตาลแผ่นด้วยภูมิปัญญาซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน นั่นคือ การกวาดแผ่นน้ำตาลที่เคี่ยวลงบนผ้าที่รองด้วยทรายละเอียด และใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า "กระโสบ" ซึ่งทำจากกาบกล้วยแห้ง ยายพิณอินทร์แช่ม อายุ 81 ปี บอกว่า สมัยก่อนทำบนพื้นดิน น้ำตาลจะแผ่นใหญ่ สมัยนี้ทำบนโต๊ะ น้ำตาลแผ่นเล็ก แต่ไม่ว่าน้ำตาลแผ่นจะเล็กหรือใหญ่ น้ำตาลโนนไทยยังหวานอร่อยเหมือนเดิม
สมศักดิ์ นิลภา ชาวอำเภอโนนไทย เล่าว่า คนที่อยู่ติดกับลำเชียงไกรลงไปถึงแม่น้ำมูลอย่างอำเภอโนนไทย โนนสูงและพิมาย ในพื้นที่ที่อยู่ติดกับลำน้ำจะมีพาหนะสำคัญในการทำมาหากินและเดินทางก็คือ เรืออีโปงหรือเรือโปงตาล ซึ่งเป็นเรือที่มีลักษณะพิเศษเนื่องจากทำมาจากต้นตาล เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย มีในท้องถิ่นและราคาไม่แพง แม้ปัจจุบันจะมีถนนหนทางสะดวกขึ้นแต่ยังมีหลาย ๆ พื้นที่ยังใช้เรืออีโปง ผู้ที่ยังใช้เรืออีโปงต่างบอกว่านี่คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขาในการหาปลา เก็บผัก โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลากเรืออีโปงมีความจำเป็นมาก เรือชนิดนี้สามารถที่จะใช้งานได้ยาวนานนับสิบปี ราคาไม่แพงเหมือนเรือพลาสติก
คนมีฝีมือเรื่องเรืออีโปง ที่ใคร ๆ ก็รู้จักก็คือ ลุงยงค์และลุงโผน แสนสันเทียะ ทั้งสองคนเป็นคนบ้านอ้อ อำเภอโนนไทย ฝึกทำเรือมาจากพ่อตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ โดยต้องเริ่มตั้งแต่เรียนรู้การดูต้นตาลที่เหมาะสมสำหรับทำเรือ ลักษณะต้องมีลำต้นตรง โคนต้นโต ที่สำคัญต้องเป็นต้นตาลแก่ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อให้ทนทานใช้งานได้นาน ในสมัยก่อนจะขุดใช้งานกันเองเท่านั้น แต่ปัจจุบันเริ่มทำขาย ในราคาลำละไม่เกิน 5,000 บาท โดยกว่าจะได้เรือสักลำนั้น ต้องขุดต้นตาลเป็นวัน ๆ เนื่องจากต้องขุดลงไปให้ถึงโคนต้น เพราะว่าส่วนที่สำคัญที่สุดที่เอามาใช้งานคือ ลำต้นที่มีโคนใหญ่ เมื่อขุดเสร็จก็ต้องเอามาตัดเฉพาะส่วนโคน ตามความยาวของลำเรือที่ต้องการ จากนั้นก็ผ่าออกมาเป็นสองซีก ซึ่งจะได้ลำเรือ 2 ลำ จากนั้นก็ต้องมาขุดเอาเนื้อข้างในออก ตกแต่งให้งานเรียบร้อย จากนั้นก็ต้องตากแดดทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ เพื่อให้แห้ง จึงจะเอาไปลงน้ำเพื่อทดลองพายว่าดีหรือไม่ การทำเรืออีโปงแม้จะขายไม่ได้กำไรมากนัก แต่ทั้งสองคนยังคงมีความสุขและความภูมิใจที่ได้ฝากฝีมือและภูมิปัญญาของคนลุ่มน้ำลำเชียงไกรไว้ให้ลูกหลานได้เห็น
ติดตามในรายการซีรีส์วิถีคน วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เวลา 17.30 - 18.00 น. ทางไทยพีบีเอส รับชมออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/Live
อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีต้นตาลมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา และผู้คนที่นี่ใช้ประโยชน์จากทุก ๆ ส่วนของต้นตาลมานานนับร้อยปี
ที่บ้านหลักร้อยและบ้านสันเทียะ มีผู้คนที่นี่ทำน้ำตาลสดและน้ำตาลแผ่นเป็นอาชีพเสริม คนหนุ่มอย่าง แทน พิสันเทียะ ที่พ้นวิกฤติช่วงโควิดระบาดด้วยการกลับบ้านมาขึ้นต้นตาล เพื่อทำน้ำตาลสด สามารถทำรายได้ได้วันละหลายร้อยบาท โดยต้นตาลมีทั้งของที่บ้านปลูกไว้ และเช่าต้นตาลเพื่อนบ้านในราคาที่ถูกเหมือนได้เปล่า
นอกจากน้ำตาลสดแล้ว คนที่นี่ยังทำน้ำตาลแผ่นด้วยภูมิปัญญาซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน นั่นคือ การกวาดแผ่นน้ำตาลที่เคี่ยวลงบนผ้าที่รองด้วยทรายละเอียด และใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า "กระโสบ" ซึ่งทำจากกาบกล้วยแห้ง ยายพิณอินทร์แช่ม อายุ 81 ปี บอกว่า สมัยก่อนทำบนพื้นดิน น้ำตาลจะแผ่นใหญ่ สมัยนี้ทำบนโต๊ะ น้ำตาลแผ่นเล็ก แต่ไม่ว่าน้ำตาลแผ่นจะเล็กหรือใหญ่ น้ำตาลโนนไทยยังหวานอร่อยเหมือนเดิม
สมศักดิ์ นิลภา ชาวอำเภอโนนไทย เล่าว่า คนที่อยู่ติดกับลำเชียงไกรลงไปถึงแม่น้ำมูลอย่างอำเภอโนนไทย โนนสูงและพิมาย ในพื้นที่ที่อยู่ติดกับลำน้ำจะมีพาหนะสำคัญในการทำมาหากินและเดินทางก็คือ เรืออีโปงหรือเรือโปงตาล ซึ่งเป็นเรือที่มีลักษณะพิเศษเนื่องจากทำมาจากต้นตาล เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย มีในท้องถิ่นและราคาไม่แพง แม้ปัจจุบันจะมีถนนหนทางสะดวกขึ้นแต่ยังมีหลาย ๆ พื้นที่ยังใช้เรืออีโปง ผู้ที่ยังใช้เรืออีโปงต่างบอกว่านี่คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขาในการหาปลา เก็บผัก โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลากเรืออีโปงมีความจำเป็นมาก เรือชนิดนี้สามารถที่จะใช้งานได้ยาวนานนับสิบปี ราคาไม่แพงเหมือนเรือพลาสติก
คนมีฝีมือเรื่องเรืออีโปง ที่ใคร ๆ ก็รู้จักก็คือ ลุงยงค์และลุงโผน แสนสันเทียะ ทั้งสองคนเป็นคนบ้านอ้อ อำเภอโนนไทย ฝึกทำเรือมาจากพ่อตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ โดยต้องเริ่มตั้งแต่เรียนรู้การดูต้นตาลที่เหมาะสมสำหรับทำเรือ ลักษณะต้องมีลำต้นตรง โคนต้นโต ที่สำคัญต้องเป็นต้นตาลแก่ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อให้ทนทานใช้งานได้นาน ในสมัยก่อนจะขุดใช้งานกันเองเท่านั้น แต่ปัจจุบันเริ่มทำขาย ในราคาลำละไม่เกิน 5,000 บาท โดยกว่าจะได้เรือสักลำนั้น ต้องขุดต้นตาลเป็นวัน ๆ เนื่องจากต้องขุดลงไปให้ถึงโคนต้น เพราะว่าส่วนที่สำคัญที่สุดที่เอามาใช้งานคือ ลำต้นที่มีโคนใหญ่ เมื่อขุดเสร็จก็ต้องเอามาตัดเฉพาะส่วนโคน ตามความยาวของลำเรือที่ต้องการ จากนั้นก็ผ่าออกมาเป็นสองซีก ซึ่งจะได้ลำเรือ 2 ลำ จากนั้นก็ต้องมาขุดเอาเนื้อข้างในออก ตกแต่งให้งานเรียบร้อย จากนั้นก็ต้องตากแดดทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ เพื่อให้แห้ง จึงจะเอาไปลงน้ำเพื่อทดลองพายว่าดีหรือไม่ การทำเรืออีโปงแม้จะขายไม่ได้กำไรมากนัก แต่ทั้งสองคนยังคงมีความสุขและความภูมิใจที่ได้ฝากฝีมือและภูมิปัญญาของคนลุ่มน้ำลำเชียงไกรไว้ให้ลูกหลานได้เห็น
ติดตามในรายการซีรีส์วิถีคน วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เวลา 17.30 - 18.00 น. ทางไทยพีบีเอส รับชมออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/Live