ความโดดเด่นของภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้เกิดวัตถุดิบเฉพาะถิ่นที่ชาวล้านนาได้นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หลายสิ่งหลายอย่างกลายเป็นสินค้าของดีจากท้องถิ่น ต้นทุนทางวัฒนธรรมหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ ทั้งงานจักสานจากไม้ไผ่และผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ พร้อมกันนั้นผู้คนในชุมชนก็ทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์การท่องเที่ยวให้ถิ่นล้านนาดำรงสืบไป
การสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วอาจไม่ใช่เรื่องยากนัก ทว่านั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพราะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงใจกับกลุ่มผู้ใช้ ให้เหมาะสมกับกลไกทางการตลาด อาจไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งสำคัญคือจุดเริ่มต้นร่วมกันระหว่าง ครูช่าง นักออกแบบ ที่ปรึกษา และล่ามแปลภาษา ที่ได้มองเห็นความมหัศจรรย์อันเรียบง่ายจากธรรมชาติที่สร้างประโยชน์ใช้สอยและความสุขแก่เราได้อย่างที่คาดไม่ถึง
ติดตามกลุ่มปันญานา อ.เมือง จ.เชียงราย นำเอาเอกลักษณ์ปักเย็บ ลวดลายของหัตถกรรมล้านนามาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลูกประคมสมุนไพรเซรามิก อ.เกาะคา จ.ลำปาง เปิดตลาดเซรามิกเพื่อสุขภาพ นำเม็ดเซรามิกมาผสมกับธัญพืช สมุนไพร มาทำเป็นลูกประคบ
การทอผ้าของชาวบ้านบนดอยสูงโดยมากแล้วนิยมใช้กี่เอวเป็นเครื่องมือในการทอ ผู้ทอจะต้องนั่งอยู่กับพื้นและสวมใส่เข็มขัดคาดหลัง เพื่อดึงให้ผืนผ้าทอตึงระหว่างการทอ สามารถบังคับให้เส้นด้ายตึงหรือหย่อนได้ตามต้องการ ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ทอ ข้อจำกัดของกี่เอวคือไม่สามารถทอผ้าผืนใหญ่ได้ ต้องอาศัยทอผ้าผืนเล็กแล้วนำมาเย็บต่อกัน