หลังกองกำลังกะเหรี่ยง KNA ของพันเอก หม่อง ชิดตู เปลี่ยนท่าทีหันไปช่วยทหารเมียนมาในจังหวัดเมียวดี ทำให้สถานการณ์การสู้รบคลี่คลาย ล่าสุดทหารเมียนมา ถอนกำลัง ออกจากบริเวณมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 แล้ว ทำให้คาดว่า น่าจะมีการเปิดด่านพรมแดนให้ขนสินค้าไป-มาได้ตามปกติในเร็ววัน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ลงนามคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้การบริหารสถานการณ์พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกรรมการ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ มีปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสารนิเทศ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เป็นกรรมการ ขณะที่ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งดังกล่าว ล้วนมีตำแหน่งฝ่ายความมั่นคง ยกเว้น ตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของ นายสุทิน คลังแสง
ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) สั่งศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ "สแตนบาย 24 ชั่วโมง" เพื่อเฝ้าตรวจการทางอากาศ พร้อมเตรียมเครื่องบินขับไล่ "เอฟ-16" จำนวน 2 ลำ บินขึ้นสกัดกั้นทันที หากตรวจพบเครื่องบิน-บินล้ำเขตแดนไทย ขณะที่นายกรัฐมนตรี กำชับ "ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการทหารอากาศ" เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ หากไทยได้รับผลกระทบกับเหตุรุนแรงในเมียนมา พร้อมลงพื้นที่แม่สอด-ติดตามสถานการณ์ 23 เมษายนนี้
นายกัณวีร์ สืบแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม มองว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ หากการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาได้ผล ชิงพื้นที่เมียวดีจากฝ่ายต่อต้านได้ กองทัพเมียนมาอาจเลือกใช้วิธีนี้กับพื้นที่แนวชายแดนจุดอื่น ๆ ไปด้วย เพื่อชิงพื้นที่ จนกลายเป็น "เมียวดีโดมิโน่" แต่จะส่งผลกระทบกับชายแดน