วันนี้ (2 ก.พ. 68) ค่าฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. และภาคกลางหลายจังหวัด วันนี้กลับมาเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพอีกครั้ง อยู่ในเกณฑ์สีส้ม กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กทม. คาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 2-9 ก.พ. การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์อ่อน ประกอบกับมีการผกผันของอุณหภูมิ หรืออินเวอร์ชัน ใกล้ผิวพื้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มลพิษทางอากาศแพร่กระจายได้อย่างไม่จำกัด ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มทรงตัว เพิ่มขึ้นสลับลดลง
การใช้งบประมาณอุดหนุน ให้ประชาชนโดยสารรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี เพื่อหวังช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของกระทรวงคมนาคม ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า แต่ก็ยังมีการขอขยายกรอบงบประมาณที่รัฐต้องจ่ายชดเชยให้กับเอกชนที่เดินรถเพิ่มขึ้น ล่าสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เตรียมเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณโครงการนี้
การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศ PM 2.5 มีประโยชน์ต่อมาตรการป้องกัน และดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากฝุ่น แต่เกณฑ์ที่ไทยใช้ปัจจุบันยังตามหลังเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกค่อนข้างมาก นักวิชาการจากจุฬาฯ จึงเสนอรัฐบาลปรับเกณฑ์ค่าฝุ่นให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงในหลายพื้นที่ ทำให้ “เครื่องฟอกอากาศ” ได้รับความสนใจจากประชาชน ปัจจุบันสินค้าหลายยี่ห้อเริ่มมีราคาแพงขึ้น และขาดตลาดในบางพื้นที่ เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการสูง โดย นายไพบูรณ์ ช่วงทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค แนะนำหากจะซื้อเครื่องฟอกอากาศ ให้สังเกตสัญลักษณ์ มอก. 60335 รวมถึงค่า Clean Air Delivery Rate (CADR) เพื่อคำนวณให้เหมาะกับสมกับขนาดห้องที่จะใช้งาน รวมถึงเลือกเครื่องฟอกอากาศที่มีหน้าจอบอกปริมาณความเข้มข้นของฝุ่น ทั้งนี้ หากเราเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากจะใช้งานไม่ได้ ยังจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย
จักษุแพทย์ ระบุ PM 2.5 ทำพิษ คนไข้ทำเลสิกไม่ได้แม้แต่คนเดียว หลังพบกระจกตาถลอก เป็นแผล จากเดิมจะพบอาการเหล่านี้ เพียงร้อยละ 20-30 เท่านั้น คาดว่าเกิดจากฝุ่น PM 2.5 ส่วนอาการที่พบในผู้ป่วยที่มารักษาตาช่วงนี้ ส่วนใหญ่มีอาการตาแห้ง เยื่อบุตาอักเสบ ภูมิแพ้ขึ้นตา และตากุ้งยิง
แม้ไทยจะประกาศให้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่คนไทยก็ยังสูดดมฝุ่นเหมือนเดิมทุกปี มาตรการต่าง ๆ ถูกตั้งคำถามว่าแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ หากดู 3 ประเทศที่ประสบปัญหาฝุ่นเหมือนกัน ปัจจุบันสามารถลดฝุ่นลงไปได้ถึงร้อยละ 50 ทำกันอย่างไร เริ่มที่ จีน เมืองจิงจินจี่ มณฑลเหอเป่ย มีการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม จนธนาคารโลกต้องไปศึกษา พบเช่น รัฐสั่งให้เปลี่ยนรถเมล์สาธารณะที่ปล่อยมลพิษต่ำ หากไม่เปลี่ยนจะมีโทษทางกฎหมาย, สนับสนุนงบประมาณให้ทุกครอบครัว เปลี่ยนใช้เตาถ่านหิน เป็นเตาแก๊ส หรือเตาไฟฟ้า เพื่อประกอบอาหาร, จัดสรรให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยปล่อยคาร์บอนฯ น้อย ผลลัพธ์ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยฝุ่นทั้งปี จาก 77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือเพียง 44 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนที่ ลอนดอน ใช้วิธี เช่น คิดค่าธรรมเนียมยานพาหนะทุกคัน ที่ไม่ผ่านมาตรฐานการปล่อยมลพิษ วันละ 555 บาท, รัฐมีเงินอุดหนุนเปลี่ยนรถเก่าเป็นคันใหม่ และที่ อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้โมเดล “ปฏิบัติการฟ้าใส” เช่น รัฐมีเงินอุดหนุนคนขับรถพาณิชย์ เช่น แท็กซี่ ให้เปลี่ยนรถใหม่ตลอด, ประชาชนทั่วไปมีโครงการเปลี่ยนรถเก่าเป็นรถใหม่, คิดค่าจอดรถไฟฟ้าให้ถูกกว่ารถสันดาป, เพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าจาก 3,000 จุดเป็น 16,000 จุด โดยทั้ง 3 ประเทศนี้ ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่า คุ้มค่าเมื่อเทียบกับต้นทุน
การรายงานจุดความร้อน หรือ Hotspot เป็นเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างหนึ่ง ที่จะสัมพันธ์กับค่าฝุ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการฉวยโอกาสลักลอบเผาหลบดาวเทียม เพื่อให้ไม่เกิดการรายงานจุดความร้อนได้หรือไม่ เพราะบางพื้นที่พบว่าค่าฝุ่นที่พุ่งสูงทั้งที่ไม่มีรายงานจุดความร้อน
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ใน จ.เลย ยังคงส่งผลกระทบกับชาวบ้าน หลังค่าฝุ่น PM 2.5 วัดได้ 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่พอใจมาตรการควบคุมการเผาของรัฐ ทั้งการตัดสิทธิ์เกษตรกรที่มีประวัติการเผาเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ แต่ต้องการให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง