การขอรับเอกสารเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำ หรือ ทีโออาร์ วงเงิน 350,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม ถึง 23 กรกฎาคม เมื่อวานนี้ (23 ก.ค.55) มีบริษัทเอกชนและสถานทูตรวมขอรับเอกสารทั้งสิ้น 398 ราย แบ่งเป็นบริษัทไทย 329 ราย บริษัทต่างประเทศ 47 ราย และสถานทูตต่างๆ 22 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี สวีเดน เป็นต้น
ซึ่ง 14.00 น. วันนี้ (24 ก.ค.55) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. จะเป็นประธานประชุมร่วมกับตัวแทนของบริษัทเอกชนที่รับทีโออาร์ เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ และตอบข้อสงสัยของบริษัทเอกชน โดยเชิญตัวแทนจากสำนักกฤษฎีกา มาชี้แจงข้อกฎหมายด้วย
ขณะเดียวกัน 10.30 น. จะมีความเคลื่อนไหวของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมเครือข่ายไปยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ให้สั่งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่อนุมัติการสร้างเขื่อนแม่วงก์ มูลค่า 13,000 ล้านบาท โดยไม่ผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย พร้อมเป็นการสกัดแผนจัดการน้ำมูลค่า 350,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการตอบโต้แผนของรัฐบาลที่จะสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำถึง 21 เขื่อนตามกรอบในทีโออาร์ที่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 36,945 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ ขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 33,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในภาคเหนือ สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ แม้ส่วนใหญ่มีน้ำไหลลงอ่างมากขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร มีแนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนอ่างเก็บน้ำเขื่อนพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก เริ่มมีน้ำไหลลงอ่างมากขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย