ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยอดผู้ป่วยมือเท้าปากทั่วประเทศ 14,452 คน พบ 5 จังหวัด อัตราป่วยสูงสุด

สังคม
24 ก.ค. 55
14:02
16
Logo Thai PBS
ยอดผู้ป่วยมือเท้าปากทั่วประเทศ 14,452 คน พบ 5 จังหวัด อัตราป่วยสูงสุด

จำนวนผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 21 ก.ค. 2555 มีทั้งหมด 14,452 คน โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ พะเยา เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และ ระยอง

น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่านายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 21 ก.ค. 2555 มีผู้ป่วยทั้งหมด 14,452 คน โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ พะเยา เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และ ระยอง และขณะนี้ยังไม่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อและสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อความรุนแรงผิดปกติ โดยคาดว่า แนวโน้มของโรคจะลดลงในอีก 6 สัปดาห์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลครอบครัวผู้ป่วยที่เสียชีวิต และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจ และหาวิธีการป้องกันในพื้นที่

ขณะที่ ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และโรคติดเชื้อในเด็ก แถลงผลวินิจฉัยการเสียชีวิตของเด็กหญิงอายุ 2 ปี 8 เดือน ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม โดยนำสารคัดหลั่งที่ลำคอไปตรวจวินิจฉัยที่ห้องปฏิบัติการ พบว่า เสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปาก และเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แม้จะไม่พบปัจจัยสัมผัสโรคนี้อย่างชัดเจน แต่กลับพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นอาการที่เข้าได้กับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 บี 5 ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกของปีนี้

ศ.นพ.ประเสริฐ ยืนยันด้วยว่า การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทยเกิดขึ้นและมีผู้เสียชีวิตทุกปี ดังนั้นประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก และแม้จะมีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการรุนแรง แต่แนะนำให้ผู้ปกครองควรใส่ใจ และระมัดระวังไม่ให้เด็กอยู่ในบริเวณการระบาดของโรค หากเด็กมีไข้สูงติดต่อกัน 2 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ และควรย้ำในเรื่องสุขนิสัยด้านความสะอาด โดยการล้างมือเป็นประจำ

สำหรับการเสียชีวิตของชายอายุ 16 ปี ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และเด็กหญิงอายุ 3 ปี ที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี นั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าไม่ได้เป็นการเสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปาก

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 บี 5 เป็นสายพันธุ์ที่พบเด็กป่วยในไทยเป็นจำนวนมาก รองจากเชื้อค็อกซากี่ เอ 6 และ เอ 16 ซึ่งหากเป็นเอนเทอโรไวรัส 71 บี 5 อาการจะไม่รุนแรง ยกเว้นหากเด็กมีความบกพร่องระบบภูมิคุ้มกัน หรือ ร่างกายอ่อนแอ ก็อาจทำให้เชื้อรุนแรงและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง