ย้อนตำนานเพลงโอลิมปิก
หลังโอลิมปิกต้องมัวหมองเนื่องจากสหรัฐฯไม่เข้าร่วมแข่งขันในปี 1980 ที่มอสโคว์เป็นเจ้าภาพ ต่อมาชาติคอมมิวนิสต์ในยุโรปก็เอาคืนด้วยการงดร่วมกีฬาโอลิมปิคในปี 1984ที่สหรัฐฯเป็นเจ้าภาพความขัดแย้งจากยุคสงครามเย็นมาผ่อนคลายในปี1988 ที่กรุงโซลเป็นเจ้าภาพ เมื่อหลายชาติ ซึ่งขัดแย้งทางการเมืองมาลงแข่งขันกีฬาร่วมกัน กลิ่นอายแห่งความปรองดองสะท้อนผ่านบทเพลง Hand in Hand ผลงานประพันธ์ของ จอร์โจ โมโรเดอร์ ที่ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ใน 17 ประเทศ และนับเป็นเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิกที่สร้างความประทับใจมากที่สุดจนวันนี้
4 ปีต่อมาที่เมืองบาร์เซโลน่าเป็นเจ้าภาพ เฟรดดี้ เมอร์คิวรี ได้รับมอบหมายให้แต่งเพลงประจำการแข่ง แต่ก่อนพิธีเปิดจะเริ่มไม่กี่เดือนอดีตนักร้องนำวงควีนต้องเสียชีวิตจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงมีการนำเพลง Friends for Life ของแอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ ที่ร้องคู่โดย ซาราห์ ไบรท์แมน และ โฆเซ คาร์เรราส มาใช้ในพิธีปิดการแข่งขัน
Reach เพลงประกอบโอลิมปิกเกมเมืองแอตแลนต้าที่กระตุ้นให้ผู้ฟังไขว่คว้าความสำเร็จในชีวิตของ กลอเรีย เอสเตฟาน แต่งขึ้นจากประสบการณ์จริงของนักร้องสาวผู้ต่อสู้กับอาการอัมพาตจากอุบัติเหตุรถยนต์ ซึ่งประสบความสำเร็จจนได้เข้าชิงรางวัลแกรมมีในปี 1997
เพลงโอลิมปิกยังคงสร้างสีสันให้กับการแข่งขันโอลิมปิกเรื่อยมา ทั้งบทเพลงเปลวเพลิงแห่งความหวังอย่าง The Frame ของ ทีนา อารีนา ที่ซิดนีย์ 2000 ส่งให้นักร้องสาวจากออสเตรเลียเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ขณะที่กรุงเอเธนส์เจ้าภาพเมื่อปี 2004 เลือกเพลง Oceania ของ บิยอร์ก นักร้องสาวจากไอซ์แลนด์มาใช้ในพิธีเปิด สะท้อนความเท่าเทียมของมนุษย์
โดย 4 ปีก่อน กรุงปักกิ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าทุ่มงบประมาณกับการเป็นเจ้าภาพมากที่สุด ได้แต่งเพลงสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกมากมาย ทั้ง Beijing Welcomes You เพื่อใช้สนับสนุนการท่องเที่ยวที่ได้ศิลปินมากมายร่วมร้อง รวมถึง You and Me เพลงคู่ที่ใช้ในพิธีเปิด ซึ่งจางอี้โหมวผู้อำนวยการแสดงในพิธีเปิดเลือกนักร้องสาวชาวอังกฤษ ซาราห์ ไบรท์แมน มาร้องแทนนักร้องในบ้านเกิดเพราะต้องการให้เพลงก้าวผ่านกำแพงวัฒนธรรม และสื่อถึงใจคนทั่วโลกได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับลอนดอน 2012 อังกฤษได้ย้ำฐานะการเป็นผู้นำวัฒนธรรมดนตรีโลกตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ด้วยผลงานเพลงหลากหลาย ทั้ง Anywhere in the World ของดีเจ มาร์ค รอนสัน เพื่อเรียกความสนใจจากเยาวชนในอังกฤษ Spinnin' for 2012 ขับร้องโดย ดิออน บรูมฟิลด์ ลูกสาวบุญธรรมของ เอมี ไวน์เฮาส์ ใช้ประกอบการวิ่งคบเพลิงในครั้งนี้ โดยมี Survival ผลงานล่าสุดของ Muse วงอัลเทอร์เนทิฟ ร็อกอันดับ 1 ของโลก ที่เนื้อหากล่าวถึงแรงปรารถนาในการได้มาซึ่งชัยชนะของนักกีฬาเป็นเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิกลอนดอนเกมครั้งนี้