ผู้บริโภคฟ้อง
ผู้บริโภคยื่นฟ้อง AIS และ Dtac ข้อหาผิดประกาศ กสทช. ข้อ11 ละเมิดผู้บริโภคด้วยการกำหนดอายุการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนแบบชำระค่าบริการล่วงหน้าหรือ ระบบเติมเงินเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไป
นายเฉลิมพงษ์ กลับดีเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)ยื่นเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 411, 000 บาท ศาลแพ่ง (รัชดา) และ นางสาวจุฑา สังขชาติผู้ใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 423,000 บาท ต่อที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในเวลา 13.30 น. วันที่ 1 สิงหาคม ทั้งนี้ผู้เสียหายทั้งสองคน ได้มอบอำนาจให้นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศและนายพรชัย จันทร์มีเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมมีคำสั่งทางการปกครองต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง 5 บริษัทที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 กันยายน 2549 โดยสำนักงาน ฯ ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 31พฤษภาคม 2555 กำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000บาทโดยเริ่มปรับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีการติดตามการดำเนินการของผู้ให้บริการทั้ง 5 บริษัทพบว่ายังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เช่นเมื่อผู้บริโภคยังมิได้มีการเติมเงินเข้าสู่ระบบก็จะมีการแจ้งสิทธิต่อผู้บริโภคผ่าน SMS ด้วยข้อความว่า “เพื่อรักษาเงิน 64.18 บาท ให้ใช้ได้ต่อเนื่อง กรุณาเติมเงินก่อน08/06/2555” จากข้อความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีเจตนาบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งขัดต่อประกาศเรื่องมาตรฐานสัญญา ข้อที่ 11 อย่างชัดเจน
ข้อมูลการตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ณสิ้นไตรมาสที่สองของปี 2554 มีผู้ใช้บริการทั้งหมด75,535,338 ราย โดยแยกออกเป็น 2 แบบคือ แบบชำระค่าบริการรายเดือน มีจำนวน 7,469,164 รายและแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (เติมเงิน) มีจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ 68,066,175 ราย ซึ่งเห็นได้ว่าระบบเติมเงินมีผู้ใช้บริการมากถึงกว่าร้อยละ90 % ทั้งนี้ จากการศึกษาของสำนักงานกสทช. พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินอยู่ที่เดือนละ 156 บาท (ข้อมูลอ้างอิงจากรายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ฯ และ ข้อมูลกลุ่มงานวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคมฯ ของสำนักงาน กสทช.)
การที่ผู้ให้บริการบังคับให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินถึง300 บาท เพื่อจะได้จำนวนวันใช้งาน 30 วัน ถือเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคทั้งประเทศต้องเติมเงินเกินกว่าที่จะใช้จริงถึงเดือนละ144 บาทต่อหนึ่งเลขหมาย ซึ่งผู้ใช้บริการแบบชำระค่าบริการมีจำนวน68,066,175 เลขหมาย จึงคิดเป็นมูลค่าที่ผู้ให้บริการจะได้รับเงินส่วนเกินจากการบังคับให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินถึงเดือนละ 9,801,529,200 บาท (เก้าพันแปดร้อยหนึ่งล้านห้าแสนสองหมื่นเก้าพันสองร้อยบาท)
การยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอความเป็นธรรมในครั้งนี้เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการกระทำการละเมิดต่อผู้บริโภคอีกแม้แต่รายเดียวและผู้ให้บริการควรคำนึงถึงการประกอบธุรกิจที่ยึดหลักธรรมาภิบาลดูแลผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม