ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อินโดนีเซีย ปิดท่าเรือนำเข้าเหลือ 4 ด่าน กระทบส่งออก “หอมแดง” เกษตรฯดันราคาสู้ตลาดอาเซียน

Logo Thai PBS
อินโดนีเซีย ปิดท่าเรือนำเข้าเหลือ 4 ด่าน กระทบส่งออก “หอมแดง”  เกษตรฯดันราคาสู้ตลาดอาเซียน

เกษตรฯเร่งพัฒนาแหล่งผลิตสู่ระบบ GAP – ส่งเสริมแปรรูปเตรียมพร้อมแข่งขัน ชูคุณภาพสู้ พร้อมคุมเข้มหวั่นสินค้าสวมรอยสมาชิก AEC ทะลักตีตลาดในประเทศ

 นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ภายหลังประเทศอินโดนีเซียลดจำนวนท่าเรือนำเข้าผักและผลไม้จากเดิม 8 แห่ง เหลือเพียง 4 แห่งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ได้แก่ ท่าอากาศยานซูการ์โน-ฮัตตา ท่าเรือ Belawan เมืองเมดาน ท่าเรือ Makassar เมืองมาคาสซ่า และท่าเรือ Tanjung Perak  เมืองสุราบายา ประกอบกับอินโดนีเซียได้กำหนดมาตรการกักกันพืชในรูปผักสดที่เป็นหัวหรือกระเปาะที่จะนำเข้าอินโดนีเซียเข้มงวดมากขึ้น ทั้งหอมแดง กระเทียม และหอมหัวใหญ่ โดยผู้ส่งออกต้องตัดจุกและตัดรากก่อน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าหอมแดงของไทยไปยังอินโดนีเซียค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณการส่งออกหอมแดงมีแนวโน้มลดลง

โดยผู้ประกอบการต้องขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือที่ได้รับอนุญาตนำเข้า 4 แห่ง ซึ่งระยะทางไกลขึ้นแล้ว สินค้ายังถูกกักที่ท่าเรือเพื่อตรวจสอบนานกว่าปกติ อีกทั้งยังไม่มีห้องเย็นเก็บรักษาคุณภาพสินค้า ทำให้เสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้น การตัดจุกและตัดรากหอมแดงทำให้อายุการเก็บสั้นลงและเน่าเสียได้ง่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออก ขณะเดียวกันแสินค้าหอมแดงของไทยยังต้องแข่งขันกับหอมแดงของอินโดนีเซียที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีศักยภาพสูงขึ้น และผลผลิตออกตรงกับหอมแดงของไทยในช่วงเดือนด้วย
 
“ส่วนการนำเข้าหอมแดงปัจจุบันเป็นไปตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ซึ่งไม่ต้องขออนุญาต แต่ผู้นำเข้าต้องแสดงใบรับรองปลอดศัตรูพืช(Phytosanitary Certificate) ทำให้ยากต่อการควบคุมปริมาณการนำเข้า และผลผลิตหอมแดงภายในประเทศที่มีปริมาณมากต้องแข่งขันกับหอมแดงที่ลักลอบนำเข้าเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตรวจสอบ ซึ่งมีขบวนการลักลอบนำเข้าผ่านแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา เป็นสาเหตุทำให้สินค้าหอมแดงล้นตลาดและราคาตกต่ำในบางช่วงเวลา” นายจิรากร กล่าว
 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี(AEC)ในปี 2558 และช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงของไทย กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งคัดเลือกและจำแนกสายพันธุ์หอมแดงให้มีความชัดเจน ดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์หอมแดงพันธุ์ใหม่ เพื่อกระจายผลผลิตหอมแดงให้ออกนอกฤดู ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังจะเร่งผลักดันแหล่งผลิตหอมแดงเข้าสู่ระบบจีเอพี(GAP) เพื่อให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยป้อนตลาดทั้งภายในประเทศและส่งออก
 
“กรมวิชาการเกษตรยังจะเร่งศึกษาวิจัยด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์หอมแดง เพื่อเพิ่มมูลค่าและช่วยยืดอายุการเก็บสินค้า เช่น หอมแดงเจียว หอมแดงดอง และหอมแดงผง เป็นต้น พร้อมเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบหอมแดงที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการเปิด AEC อาจมีสินค้าหอมแดงจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียนสวมรอยเข้ามาตีตลาดได้  อาทิ หอมแดงจากจีนและอินเดีย จึงต้องเข้มงวดในการตรวจสอบทั้งศัตรูพืช โรคพืช สารปนเปื้อนหรือสิ่งตกค้างที่มากับดิน”  อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง