กอ.รมน.เตรียมพร้อมสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ดับไฟใต้

ภูมิภาค
2 ส.ค. 55
13:55
13
Logo Thai PBS
กอ.รมน.เตรียมพร้อมสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ดับไฟใต้

กอ.รมน.เตรียมพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มประสิทธิภาพการประสานสั่งการ ขณะที่กองทัพบก ย้ำยุทธศาสตร์เดินมาถูกทางแล้ว แต่เน้นเพิ่มการดูแลความปลอดภัยกำลังพล หลังรายงานด้านการข่าวพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังเป็นเป้าหมายสุ่มเสี่ยงลำดับแรกๆ ที่จะถูกกลุ่มก่อความไม่สงบลอบโจมตี

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้งในช่วงถือศีลอดหรือเดือนรอมฎอนไม่ว่าจะเป็นเหตุยิงทหาร 4 นายที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี และเหตุระเบิดโรงแรมซีเอส ปัตตานี แม้ฝ่ายความมั่นคงจะคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะมีการก่อเหตุช่วงนี้แต่ก็ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ข้อมูลของกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่า สถิติการก่อเหตุไม่สงบในเดือนรอมฎอนปีนี้กับปีที่ผ่านมามีจำนวนไม่ต่างกันมากนัก แต่มีความพยายามทำให้เกิดภาพความรุนแรง และสะเทือนขวัญประชาชน โดยมีปัจจัยมาจากการอ้างคำสอนทางศาสนาในทางที่ผิด การถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ และการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแนวร่วม
 
จากข้อมูลของกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พบว่า ประชาชนเริ่มให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น การก่อเหตุหลายครั้งไม่ได้ถูกขยายผลจากสื่อในวงกว้างทำให้เครือข่ายที่แบ่งแยกหน้าที่กันทำ ทั้งกลุ่มติดอาวุธอาร์เคเค.ที่ทำหน้าที่ก่อเหตุไม่สงบ กลุ่ม แกนนำที่ปลุกระดมมวลชนและกลุ่มประสานงานระดับต่างๆ ขับเคลื่อนในรูปแบบองค์กรลับอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกลอบโจมตี
 
ล่าสุดการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกทั่วประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับให้แม่ทัพภาคที่ 4 เกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่มากขึ้น ย้ำให้กำลังพลระมัดระวังตนเองและให้ศึกษาวิจัยจัดหาอุปกรณ์ที่สร้างความปลอดภัย เช่น เครื่องมือตรวจวัตถุเบิด พร้อมเชื่อมั่นว่าการแก้ปัญหาเดินมาถูกทางแล้ว แต่ ให้ปรับการทำงานสอดคล้องกับสถานการณ์ วิถีชาวบ้าน และนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี

โครงสร้างศูนย์เบื้องต้นจะมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายยงยุทธ วิชัย ดิษฐ์ เป็นที่ปรึกษา โดยจะมีข้าราชการระดับผู้บริหารหน่วยงาน เช่น ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองผู้อำนวยการ เพื่อบูรณาการการทำงานตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง โดยมีกอ.รมน.เป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักกรอบการทำงานของศูนย์จะเน้นติดตาม สถานการณ์ได้ตลอดเวลา แก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤติได้ และขับเคลื่อนการพัฒนาในด้านต่างๆ
 
ทั้งนี้ อาจพิจารณาใช้ กอ.รมน.สวนรื่นฤดี หรือ ทำเนียบรัฐบาล เป็นที่ตั้งศูนย์ คาดว่าการทำงานจะชัดเจนหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ 8 สิงหาคมนี้ และเดินหน้าเป็นรูปธรรมได้หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน  ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติกอ.รมน.และศอ.บต.เป็น การเพิ่มยาแรงกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ประสานการทำงานของทุกส่วน ราชการ ที่ดูแลด้านนโยบายและบูรณาการงบประมาณ 
 
ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เปลี่ยนแปลงในหลายมิติช่วง 10 ปีนี้ ทั้งการเชื่อมโยงกับภัยแทรกซ้อน ผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆไปจนถึงเชื่อมโยงกับมิติทางการเมือง แม้ว่าทุกรัฐบาลจะพยายามหาทางออกโดยการปรับยุทธศาสตร์และ ปรับโครงสร้างหน่วยงานในหลายรูปแบบ รวมถึงการตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม หรือแม้แต่การจัดหายุทโธปกรณ์พิเศษ แต่เป้าหมายการเอาชนะใจประชาชนในพื้นที่ก็ยังเป็นภารกิจสำคัญในทุกรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง