ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มรดกศิลปะ - ดนตรี สมัยรัชกาลที่ 3

Logo Thai PBS
มรดกศิลปะ - ดนตรี สมัยรัชกาลที่ 3

ศิลปวิทยาการสมัยรัชกาลที่ 3 ถูกนำมาตีความในแบบร่วมสมัย ใช้การแสดงละคร ศิลปะและเสียงดนตรี ทำให้เรื่องราวของภูมิปัญญาในอดีต กลับมาอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ในงาน ศิลปากร ศิลปวิทยาการ ในสมัย รัชกาลที่ 3

"อมรแมนแม่นแม้นเจ้างามโฉม ชฬอฬ่อฬ้อโลกย์ให้โศกโซม แต่เลาเล่าเล้าโลมฤดีแด" วรรคหนึ่งมีคำสัมผัสอักษรเรียงติดกัน 3 ตัว ผันด้วยวรรณยุกต์ เอก โท คือ ลักษณะพิเศษอันไพเราะของ กลบทตรีประดับ ถ่ายทอดมรดกทางภาษาของไทย หนึ่งในสรรพตำราที่รัชกาลที่ 3 โปรดให้จารึกไว้ทั้งด้านวรรณคดี ภาษา และแพทย์แผนโบราณ ตามศาลารายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์

จากแนวคิดการประพันธ์กลบท บทกลอนที่มีลักษณะพิเศษในการเล่นคำ นำมาตีความเป็นจังหวะเพลงสำหรับวงเครื่องตี ให้เสียงดนตรีเหมือนบทกวีที่มีจังหวะจะโคน ส่วนหนึ่งของการแสดงในงาน "ศิลปากร ศิลปวิทยาการ ในสมัยรัชกาลที่ 3" นำภูมิปัญญาจากอดีตให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

หลากหลายการแสดง ทำให้มรดกภูมิปัญญาในสมัยรัชกาลที่ 3 กลับมาโลดเล่นในสังคมยุคใหม่อีกครั้ง ทำให้คนรุ่นใหม่รับรู้ศิลปวิทยาการ ผ่านเสียงดนตรี นาฎกรรม และงานศิลปะ

แรงบันดาลใจจากตำราฤาษีดัดตน มรดกทางการแพทย์แผนโบราณ ในจารึกวัดโพธิ์ ถูกตีความ และถ่ายทอดผ่านการเต้นแบบร่วมสมัย ประกอบมัลติมีเดีย และสวมใส่เครื่องประดับที่เน้นตามจุดสำคัญของร่างกาย สื่อถึงการรับรู้ ลมหายใจ สมาธิ นำภูมิปัญญาการนวดมาสร้างสรรค์เป็นการแสดงชุดฤาษีดัดตน ที่ดูแปลกตา และนักแสดงยังได้ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อออกแบบการแสดง

ผลงานสร้างสรรค์ที่ผ่านการตีความของนักศึกษา เกิดเป็นหลากหลายการแสดงในงาน "ศิลปากร ศิลปวิทยาการ สมัย รัชกาลที่ 3" หวังสะท้อนถึงคนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญ ที่จะถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม และอนุรักษ์ไว้ให้คนอยู่สืบต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง