วันนี้ (19 ม.ค.2568) นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "เปิดช่องโหว่ใหญ่ ๆ ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร" โดยระบุข้อความว่า
ณ ขณะนี้สังคมไทยน่าจะเกินเลยจุดของการถกเถียงกันทางหลักการและแนวคิดว่า "ควรเอาบ่อนพนันใต้ดินขึ้นมาไว้บนดินหรือไม่?" แต่ควรจะมาถกแถลงกันบนฐานของข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงที่อิงอยู่กับตัวบทกฎหมายร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรของรัฐบาล เพราะนี้คือ ของจริงว่ากฎหมายนี้จะดลบันดาลให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
หากไม่เป็นการมองผู้ร่างกฎหมายในแง่ร้ายเกินไป อาจกล่าวได้ว่าวิธีเขียนกฎหมายฉบับนี้ (รวมถึงกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ) ใช้วิธีเขียนแบบหลวม ๆ ไม่เขียนผูกมัดรัดตัวอะไรไว้มาก ใช้วิธีเปิดช่องไว้กว้าง ๆ เพื่อให้โอกาสสิ่งต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต แล้วใช้วิธียกให้คณะบุคคลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจว่า จะตัดสินใจอย่างไรตามความหลวมและช่องโหว่ที่กฎหมายเปิดให้ไว้
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดูมีเจนตนาเปิดช่องไว้หลายประการ ขอขมวดเป็นช่องใหญ่สัก 4 เรื่อง
1. เปิดกาสิโนได้หลายแห่ง หลายขนาด No Limit
- เงื่อนไข คือ "ต้องเป็นกาสิโน บวกกับอีก 4 กิจการ (มาตรา 41)
- สี่กิจการที่จะเปิดร่วมกับกาสิโน กฎหมายได้ตัดถ้อยคำที่ผูกมัดเกี่ยวกับขนาดของกิจการออกไปทั้งหมด เช่น ตัดคำว่า "ระดับ 5 ดาว" ออกจากคำว่าโรงแรม ตัดคำว่า "ครบวงจร" ออกจากคำว่าห้างสรรพสินค้า และตัดรายการศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการขนาดใหญ่ ออกจากตัวเลือก ในบัญชีแนบท้าย
- ไม่ได้กำหนดว่าสัดส่วนของกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจรมีได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ (มาตรา 11(8))
2. ยกอำนาจการตัดสินใจให้ "คณะกรรมการนโยบาย"
- คณะกรรมการนโยบายประกอบด้วย นายกฯ , รองนายกฯ 1 , รมต.ตามตำแหน่ง 6 , ข้าราชการประจำ 4 และผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯแต่งตั้ง ไม่เกิน 6 = 18 อรหันต์ (มาตรา 6)
- จะตั้งที่ไหน จะเปิดที่ไหน จะเปิดขนาดไหน จะเก็บภาษีเท่าไร จะเก็บค่าใบอนุญาตจากผู้ประกอบการรายละเท่าไร ภายใต้มาตรา 11 มาตราเดียว คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจตัดสินใจ
- จะให้กลุ่มธุรกิจใดทำ ไม่ต้องมีการประมูล ใช้ระบบอนุญาตโดยกรรมการนโยบาย
- ไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นประชาชน (ความเดิมในมาตรา 50 ของร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดย กมธ.ถูกตัดออก)
3. เรื่องเงินทองเขียนกำหนดขั้นสูงแต่ไม่กำหนดขั้นต่ำ
- ใบอนุญาตครั้งแรกเก็บได้ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ใบอนุญาตรายปีเก็บได้ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท (มาตรา 11(6))
- อัตราค่าธรรมเนียมของผู้มีสัญชาติไทยที่จะเข้ากาสิโนเก็บได้ไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท (มาตรา 11(11))
4. ไม่ล็อกเงินรายได้เข้าแผ่นดิน
- เงินได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหลักพันล้าน เป็นทุนและทรัพย์สินของสำนักงานกำกับกิจการสถานบันเทิงครบวงจร เมื่อหักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินการต่าง ๆ เหลือเท่าใดให้นำส่งเข้าแผ่นดิน (มาตรา 24 วรรคท้าย)
นายธนากร ยังระบุว่าแค่นี้ช่องโหว่มากพอหรือยัง ซึ่งจริง ๆ มีมากกว่านี้ และนี่คือเหตุผลเบื้องต้นว่า เหตุใดเราจึงหยุด พ.ร.บ.ซ่อนแอบฉบับนี้ ที่เจตนาซุกกาสิโนไว้ใต้เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
เงียบ = ยอมรับ ใช่มั้ยครับ
อ่านข่าว :
"ทสท." ตั้ง 4 คำถามถึงรัฐบาล ปม "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์"
ทสท.จับตาดีลลับแบ่งเค้กกาสิโนเกาะฮ่องกง
กางปฏิทิน กม.สถานบันเทิงครบวงจร พื้นที่ กาสิโน 10% ที่น่ากังวล