รอง ผอ.สสว.เผย เอสเอ็มอีไทยกว่า 2 ล้านรายอาจไปไม่รอด เมื่อเข้าสู่เออีซี
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสมาคมอาเซียน ประเทศไทย จัดการเสวนาเรื่อง “Asean Connectivity : การเชื่อมโยงไร้พรมแดนอาเซียน โอกาสและความท้าทาย” เพื่อฉลองวันครบรอบ 45 ปีของการก่อตั้งอาเซียนในวันนี้ (8 ส.ค.55)
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผอ. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อย (สสว.) กล่าวถึงผลกระทบของผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ในประเทศไทย เมื่อมีการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 3 ล้านราย แต่จะมีเพียง 18,000 รายเท่านั้น ที่จะสามารถอยู่รอด และประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับการส่งเสริม หรือ ให้ความรู้ เรื่องของการบริหารจัดการตลาดอย่างเป็นมืออาชีพ, ทักษะทางการสื่อสารภาษาอังกฤษ อีกทั้งผู้ประกอบการไม่มีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้ก้าวทันโลก เพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว
ดร.วิมลกานต์ ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่สามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้นได้นั้น เนื่องจากต้องอาศัยเงินทุน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยค่อนข้างสูง และกู้ยาก จึงส่งผลทำให้การส่งออกไปยังต่างประเทศก็ยากไปด้วย
นอกจากนี้ ดร.วิมลกานต์ ยังระบุว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแต่ละประเภท ควรรวมตัวเพื่อช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะในอนาคตหากมีกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีจากต่างชาติเข้ามา อาจส่งผลให้การแข่งขันทางด้านการตลาดมีมากขึ้น อาจทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทั้งนี้ หากต่างชาติเข้ามาก็จะสามารถเป็นช่องทาง และสอนงานได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะต้องช่วยกันพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งการส่งเสริมการส่งออก, การพัฒนาผลิตภัณฑ์, การแก้ไขอัตราดอกเบี้ย หรือภาษีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงการลดข้อบังคับบางอย่างที่เป็นการปิดกั้นทางการค้า