นับตั้งแต่กองทัพเมียนมา ก่อรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่แล้ว การเดินทางเยือนต่างประเทศของพลเอกอาวุโสมิน ออง ไลง์ ก็เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง หลัก ๆ คือการไปเยือนรัสเซีย จีน และเบลารุส หลังจากเมียนมาถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก แต่ไทยถือเป็นชาติแรกในอาเซียนที่เปิดบ้านรับการมาเยือนของผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา
กระทรวงการต่างประเทศไทย เผยแพร่ภาพพลเอกอาวุโสมิน ออง ไลง์ เดินทางถึงสนามบินที่กรุงเทพฯ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (3 เม.ย.2568) โดยภาพการเดินทางเยือนไทย และพบกับผู้นำชาติสมาชิก BIMSTEC ของพลเอกอาวุโสมิน ออง ไลง์ ที่กรุงเทพฯ ไม่ต่างอะไรกับการประกาศให้โลกรู้ว่าเมียนมาภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร กลับมาโลดแล่นบนเวทีการทูตระหว่างประเทศแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมประชุมใหญ่ในระดับภูมิภาค
การประชุมในครั้งนี้ คาดว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาได้เข้าพูดคุยกับบรรดาผู้นำชาติต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะนเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย หรือแม้แต่นายทักษิณ ชินวัตร ที่ขณะนี้นั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาส่วนตัวของอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน
BIMSTEC ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแถบอ่าวเบงกอล 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ ศรีลังกา เมียนมา และไทย ครอบคลุมประชากรประมาณ 1,800 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 22% ของประชากรโลก และมี GDP รวมกันแตะ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่ในการประชุมสุดยอดผู้นำที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (4 เม.ย.2568) นอกจากเรื่องความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนแล้ว ประเด็นการพูดคุยคงหนีไม่พ้นเรื่องสถานการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา คาดว่าผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะใช้เวทีนี้ในการร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากชาติสมาชิก BIMSTEC
รัฐมนตรียืนไว้อาลัยเหตุแผ่นดินไหวเมียนมา
ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ของ 7 ชาติสมาชิก BIMSTEC ร่วมยืนสงบนิ่งไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2568 ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 20 เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา โดยมี "ตาน ซเว" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศเมียนมา เข้าร่วมในวงประชุมนี้ด้วย
การประชุม BIMSTEC จัดขึ้นไม่ถึง 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติใหญ่ ซึ่งชาติสมาชิก BIMSTEC แต่ละประเทศ ต่างสนับสนุนความช่วยเหลือให้กับเมียนมาในยามวิกฤต ทั้งส่งทีมกู้ภัยและสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งถือเป็นชาติแรก ๆ ที่ส่งความช่วยเหลือไปให้กับเมียนมา
ขณะที่ไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพ เสนอให้ผู้นำชาติสมาชิก BIMSTEC ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับผลกระทบของแผ่นดินไหวในเมียนมา หลังการประชุมสุดยอดเสร็จสิ้นลงในวันพรุ่งนี้ด้วย ซึ่งจะตรงกับวันครบรอบ 1 สัปดาห์หลังเกิดแผ่นดินไหว แต่เรื่องแผ่นดินไหวไม่น่าจะเป็นเป้าหมายเดียวของพลเอกอาวุโสมิน ออง ไลง์
หากสังเกตความเคลื่อนไหวในเมียนมาตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาจะเห็นชอบในฉันทามติ 5 ข้อ ระหว่างการประชุมอาเซียนนัดพิเศษที่กรุงจาการ์ตาเพียง 2 เดือนกว่า ๆ หลังก่อรัฐประหาร แต่ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี กว่าที่เมียนมาจะเริ่มหันหน้าเข้าหาอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิรบจากปฏิบัติการ 1027 ของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ เมื่อปี 2566
ขณะที่ปี 2267 ถือเป็นปีที่รัฐบาลทหารเมียนมาเดินเครื่องเต็มสูบในการจัดการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรม เริ่มตั้งแต่การยอมผ่อนคลายระเบียบพรรคการเมือง และเริ่มสำรวจสำมะโนประชากร เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาจะประกาศเมื่อเดือน มี.ค. ว่า ต้องการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ธ.ค.นี้ หรืออย่างช้าคือเดือน ม.ค.2569
ภาพรวมสถานการณ์สู้รบในเมียนมาและความเคลื่อนไหวบนเวทีนอกประเทศของรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้ สะท้อนว่า มีความพยายามในการปูทางเพื่อจัดการเลือกตั้งขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงการประชุมอาเซียนนัดแรกที่ลังกาวี เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเมียนมาใช้เป็นเวทีในการย้ำถึงความต้องการในการจัดการเลือกตั้ง
แต่ขณะนั้นอาเซียนยังยืนยันว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นสำคัญอันดับแรก แต่เป็นเรื่องของการหยุดยิงและทุกฝ่ายยอมยุติการสู้รบ ดังนั้นการเดินทางมาไทยของพลเอกอาวุโสมิน ออง ไลง์ อาจช่วยเปิดพื้นที่ของรัฐบาลทหารเมียนมา ในการแสดงจุดยืนเรื่องการจัดเลือกตั้ง และเรียกเสียงสนับสนุนด้วยหรือไม่
ขณะที่ในวันเสาร์ที่ 5 เม.ย.นี้ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยและมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เตรียมเดินทางเยือนเมียนมา เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ประสบภัยด้วย
หลายคนจับตามองว่า การเปิดบ้านรับการมาเยือนของพลเอกอาวุโสมิน ออง ไลง์ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นข้อครหาว่าเป็นการช่วยฟอกตัว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาบนเวทีโลกด้วยหรือไม่
วิเคราะห์ : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าว : "กัณวีร์" เตือนรัฐบาล เตรียมรับแรงกระแทก ผู้นำเมียนมาเยือนไทย