ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ละครแบบไหนที่คนไทยอยากเห็น

Logo Thai PBS
ละครแบบไหนที่คนไทยอยากเห็น

บ่อยครั้งที่ละครดีกับละครดังอาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวกันเพราะไม่ค่อยมีโอกาสที่ผู้ผลิตและผู้ชมจะได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เวทีเสวนา "ละครโทรทัศน์แบบไหนที่สังคมไทยอยากเห็น" จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการผลิตผลงานที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

ข้อคิดที่แฝงในคำสอนของคุณย่า และตัวละครที่รักในอาชีพสุจริตอย่างเกษตรกร ทำให้ละครโทรทัศน์เรื่อง "ธรณีนี่นี้ใครครอง" ถูกยกเป็นละครสร้างสรรค์สังคม แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าบทบาทของตัวเอกเก่งและดีเกินจริง รวมถึงเนื้อหาไม่กระตุ้นให้ผู้ชมได้ฉุกคิดถึงภาพความเป็นจริงในสังคม ขณะที่ "ดอกส้มสีทอง" ละครโทรทัศน์ยอดนิยมเคยได้รับเสียงชื่นชมทั้งความสนุกและเนื้อหาสะท้อนสังคม แต่ก็ถูกวิจารณ์ด้านความความรุนแรงและภาพที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ภายใต้เรต น 13+ที่ละครออกอากาศ

หลากหลายความเห็นสะท้อนผ่านเวทีเสวนา "ละครโทรทัศน์แบบไหนที่สังคมไทยอยากเห็น" จัดโดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ หรือ กสทช. เพื่อหามาตรฐานร่วมกันระหว่างผู้ผลิตละครและผู้ชม ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเนื้อหาในละครโทรทัศน์ไทย

โดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการ ระบุว่า "อยากเห็นละครแนวทางเลือก แนวที่ฉีกไปจากกรอบจารีตของละครไทย ละครซึ่งจุดประกายให้คนตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์เป็น ละครซึ่งสามารถทำให้คนเข้าใจสังคมไทยที่เป็นจริง เข้าใจชีวิตมนุษย์ที่มีความซับซ้อน"

ขณะที่ยุทธนา ลอพันธ์ไพบูลย์ ผู้กำกับละครโทรทัศน์กล่าวว่า "ประเทศเราเป็นประเทศที่ใจยังไม่กล้าเท่ากับประเทศใหญ่ ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา ซึ่งสามารถสร้างละคร หรือภาพยนตร์ได้หลายรูปแบบ ทั้งการตีแผ่ หรือเปิดเผยสิ่งที่เป็นความจริงในสังคมได้ด้วย แต่เรายังไม่สามารถนำเอาความจริงในสังคมมาเล่นในละครได้ตลอดทุกเรื่อง เพราะว่าความจริงบางอย่างก็ไม่มีใครอยากให้เอามาตีแผ่อยู่ในละคร"

บ่อยครั้งที่ละครที่ดังกับละครที่ดีถูกใจผู้ชมไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ทั้งภาพและเนื้อหาที่สะท้อนในละครที่เป็นที่นิยมหลายเรื่องยังสร้างความ กังวลให้ผู้ปกครองว่าอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อเยาวชน ซึ่งมองว่าผู้ผลิต ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนรูปแบบของละครที่เป็นอยู่ เพื่อให้ละครไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิงแต่ยังเป็นที่สร้างการเรียนรู้และ เสริมประสบการณ์ในด้านต่างๆ ให้กับผู้ชม

ยุทธนา ลอพันธ์ไพบูลย์ ยังกล่าวเสริมว่า "การสร้างละครดีอย่างที่สังคมต้องการอาจจะต้องค่อยๆ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้คนดู ให้รู้จักว่าดูแล้วพิจารณาเป็นคิดเป็นแยกเป็นว่าอะไรมันคือเรื่องจริง อะไรมันคือการเอาเค้าโครงจากเรื่องจริงมาใส่ไว้ในละคร แยกแยะให้ออก เมื่อไหร่ที่คนดูแยกแยะและมีวิจารณญาณที่ดีแยกออก เมื่อนั้นก็จะมีละคร ตามแบบที่สังคมไทยอยากเห็นออกมา ซึ่งขณะนี้ยังต้องดูแบบครึ่งตา หรี่ ๆ ตาไปก่อน"

ขณะที่ อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ระบุว่า "ต้องฝากไปที่ผู้กำกับดูแล ซึ่งกลไกของผู้ชมเรียกร้องเป็นแค่กลไกนึงเท่านั้น แต่คนที่มีอำนาจในการดูแลต้องพยายามทำให้ละครมันไม่ดีแล้วเกิดการเลียนแบบ แล้วเกิดอะไรไม่ดีขึ้นในสังคม หวังว่าจะเป็นจุดเชื่อมของภาคประชาชนผู้ผลิตและสปอนเซอร์ ถ้ากสทช.ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และใช้อำนาจหน้าที่เมื่อมันเกิดละครที่ไม่เหมาะสมขึ้นในสังคม"

ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ผลิตและผู้ชม เป็นอีกทางที่จะนำไปสู่การจัดทำคู่มือแนวทางแนวปฏิบัติกลางที่ได้การยอมรับ จากทุกฝ่าย และ นำไปใช้เป็นหลักในการผลิตรายการและกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ภายใต้มาตรฐานจริยธรรม และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน วันที่ 16 สิงหาคมนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง