ศาลออกหมายจับผู้ก่อเหตุยิงทหาร อ.มายอ ปัตตานี อีก 3 คน

ภูมิภาค
12 ส.ค. 55
03:23
18
Logo Thai PBS
ศาลออกหมายจับผู้ก่อเหตุยิงทหาร อ.มายอ ปัตตานี อีก 3 คน

ความคืบหน้าเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กราดยิงทหารลาดตระเวนเสียชีวิต 4 นาย ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามตัวผู้ก่อเหตุ หลังศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวเพิ่มอีก 3 คน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองจังหวัดปัตตานีตั้งจุดตรวจสกัดเส้นทางสำคัญเข้าเมืองทุกจุด รวมทั้งย่านโรงแรม และย่านเศรษฐกิจ โดยนำเอกสารรถยนต์ที่ถูกแจ้งเตือนมาตรวจสอบรถยนต์ที่จะเข้าสู่ตัวเมืองอย่างละเอียด เพราะมีรายงานข่าวว่าจะมีการลอบก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เมือง

พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามตัวผู้ต้องหาที่ร่วมกันก่อเหตุยิงทหารลาดตระเวนเสียชีวิต 4 คนในพื้นที่อำเภอมายอ หลังศาลได้อนุมัติหมายจับเพิ่มอีก 3 คน และก่อนหน้านี้ได้ออกหมายจับไปแล้ว 1 คน โดยผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับเพิ่มคือ นายรอซือดี จือแน หัวหน้ากลุ่มคนร้ายเป็นคนสั่งการให้โจมตีเจ้าหน้าที่, นายนูรอาบีดิน จารง, นายอับดุลฮาดี ดาหาเล็ง โดยทั้ง 3 คนถูกตั้งข้อหาร่วมกัน ก่อเหตุยิงทหารชุดลาดตระเวนเสียชีวิต 4 คน

ผู้ที่ถูกออกหมายจับทั้ง 3 คน มีประวัติ ก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หลายคดี จากลักษณะของผู้ต้องหาที่กล้องวงจรปิดจับภาพได้ นายรอซือดี มีลักษณะขาไม่เท่ากัน เป็นคนสั่งการให้ทุกคนยิงสู้กับทหาร ส่วนนายนูรอาบีดิน เป็นผู้ใช้เอ็ม 16 ยิง ส่วนนายอับดุลฮาดี เป็นหัวหน้าชุดรถคันที่ 2 ใช้อาวุธปืนจ่อยิงทหารเสียชีวิต ขณะขับรถ

ขณะที่อุปนายกฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ยอมรับแนวทางที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามอบตัว และพิจารณาให้เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยตามแนวทางที่เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่ดีในการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่เตือนว่าการพิจารณาตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณารายบุคคล เนื่องจากผู้ก่อเหตุความไม่สงบในภาคใต้อาจต้องโทษหนักในบางคดี

มีรายงานว่าการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต.เพื่อย้ำนโยบายปรับการทำงานแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลวานนี้มีการหารือถึงกรณีผู้ก่อความไม่สงบ 40 คนที่ยื่นข้อเสนอขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งมาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง มีความคล้าย และแตกต่างจากคำสั่ง 66/23 ที่ประกาศใช้เพื่อให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในอดีต เนื่องจากมาตรา 21 มีการกำหนดฐานความผิด และเงื่อนไขในพื้นที่

ขณะที่คำสั่ง 66/23 ในขณะนั้นประกาศใช้ทุกพื้นที่ รวมทั้งลักษณะของผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ต่างกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ซึ่งผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ขณะที่คอมมิวนิสต์ในอดีตจะมุ่งต่อสู้เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง