เยาวชนอิรักรวมตัวเล่นออร์เคสตราเพื่อก้าวผ่านความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่นในชาติ
เสียงบรรเลงออร์เคสตราอันแผ่วเบาของนักดนตรีหนุ่มสาวชาวอิรัก เกิดจากความเคยชินที่เติบโตมาท่ามกลางความหวาดหวั่นจากภาวะสงคราม และดนตรีจากตะวันตกยังเป็นสิ่งต้องห้าม แต่วันนี้พวกเขามีอิสระมากขึ้นจากการได้ร่วมวง National Youth Orchestra of Iraq เวทีที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวชาวอิรักแสดงศักยภาพทางดนตรีอย่างแท้จริง
อิรักเคยมีอดีตรุ่งโรจน์ด้านดนตรีคลาสสิค เมื่อเป็นชาติแรกในตะวันออกกลางที่มีวงออร์เคสตราเป็นของตนเอง และก่อตั้งสถาบันดนตรีประจำกรุงแบกแดดเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1948 จนเมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามในยุคของซัดดัม ฮุสเซน ศิลปินและครูดนตรีมากมายต้องหนีออกนอกประเทศ การรุกรานของสหรัฐฯ ยิ่งซ้ำเติมให้วัฒนธรรมตะวันตกเป็นสิ่งต้องห้าม โรงละครมากมายถูกปิด นักดนตรีรุ่นเยาว์ต้องฝึกซ้อมอย่างไร้ครูสอน และต้องหลบซ่อนเพื่อไม่ให้ใครจับได้
ซูฮัล ซูลทาน หนึ่งในนักเปียโนอิรักที่ต้องหัดเล่นดนตรีระหว่างลี้ภัย เห็นถึงปัญหานี้จึงร่วมก่อตั้ง National Youth Orchestra of Iraq ให้เป็นวงสำหรับนักดนตรีหนุ่มสาวอิรักวัย 14 ถึง 29 ปีจากทั่วประเทศได้มีโอกาสเล่นดนตรีร่วมกันเป็นครั้งแรก โดยได้รับการสนับสนุนจากกงสุลอังกฤษประจำอิรัก และได้ พอล แม็คอัลลินดิน วาทยากรชาวสก็อตและนักดนตรีชั้นนำมาร่วมฝึกสอนและอำนวยวง
หลังจากก่อตั้งเมื่อปี 2009 มีหนุ่มสาวอิรักส่งภาพการเล่นดนตรีของตนมาร่วมคัดเลือกกันไม่ต่ำกว่าปีละร้อยราย โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้โอกาสมาร่วมฝึกซ้อมกับวงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับหลายคนที่ฝึกฝนด้วยตนเองทางอินเทอร์เน็ท ถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่มีโอกาสเล่นดนตรีโดยมีมืออาชีพช่วยฝึกสอน
พอล แม็คอัลลินดิน ซึ่งวางแผนจะนำ National Youth Orchestra of Iraq เปิดการแสดงนอกประเทศครั้งแรกที่สก็อตแลนด์ในสัปดาห์หน้านี้ กล่าวว่าปัญหาที่เจอคือสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เคยชินกับการเล่นเสียงดัง มีนักทรัมเป็ตบางคนถึงกับฝึกการกลั้นเสียง เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งของเขาคือการสร้างความมั่นใจให้กับนักดนตรีให้กลับมาแสดงออกด้วยความสนุกสนานปราศจากซึ่งความหวาดกลัว