คนโบราณพกบ๊วยติดตัวเวลาเดินทางไกล
ซามูไรญี่ปุ่นในสมัยโบราณ ยามเดินทางไกลท่ามกลางแดดร้อน หรือ คนจีนที่ต้องค้าขายข้ามเมือง สิ่งหนึ่งที่พวกเขามักพกติดตัวคือ "บ๊วย" ไม่ว่าจะเป็นบ๊วยสดหรือบ๊วยดอง เพราะบ๊วยสามารถช่วยคลายร้อนและดับกระหายได้ดีเยี่ยม รสเปรี้ยวของมันทำให้รู้สึกสดชื่นทันที แถมยังพกง่าย ไม่เน่าเสียเร็ว เหมาะกับชีวิตที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา
ข้อมูลจาก Japan National Tourism Organization ในญี่ปุ่น บ๊วยดองหรือที่เรียกว่า "อูเมะโบชิ" ไม่ได้เป็นแค่ของกินธรรมดา แต่มีความเชื่อว่าไล่ปีศาจได้อีกด้วย ตามพงศาวดารญี่ปุ่น บ๊วยถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและการป้องกันสิ่งชั่วร้าย ถึงขนาดที่บางบ้านแขวนบ๊วยดองไว้หน้าประตูในวันเซ็ตสึบุน เพื่อขับไล่วิญญาณร้าย

ภาพประกอบข่าว บ๊วยดอง
ภาพประกอบข่าว บ๊วยดอง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าถึงซามูไรที่พกบ๊วยดองติดตัวเวลาออกรบ เพราะเชื่อว่านอกจากจะช่วยให้ร่างกายสดชื่นแล้ว และบ๊วยถูกใช้เป็นอาหารและยารักษาโรคมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 อีกด้วย และบ๊วยที่ใช้ทำบ๊วยดองส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ "Nanko" จากญี่ปุ่น เพราะเนื้อแน่นและรสเปรี้ยวกำลังดี
ส่วนในจีน ข้อมูลจาก Chinese Cultural Studies มีตำนานต้นบ๊วยศักดิ์สิทธิ์ที่เล่าว่า ในสมัยราชวงศ์ถัง มีต้นบ๊วยต้นหนึ่งออกผลตลอดทั้งปีไม่ขาด แม้แต่ในฤดูหนาว ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่เทพเจ้าปกป้อง และผลจากต้นนั้นช่วยรักษาคนป่วยได้ "บ๊วย" จึงถูกยกให้เป็น "ผลไม้อายุยืน" ตำราแพทย์จีนโบราณ อย่าง Compendium of Materia Medica เขียนไว้ว่าบ๊วยช่วยปรับสมดุลร่างกาย ลดความร้อนใน และขับพิษ บางคนเชื่อว่ากินบ๊วยทุกวันจะช่วยให้สุขภาพดีและอายุยาวนานขึ้น

ภาพประกอบข่าว บ๊วยสด
ภาพประกอบข่าว บ๊วยสด
มาจนถึงยุคปัจจุบัน บ๊วยเป็นเหมือนซูเปอร์ฮีโรตัวจิ๋ว เพราะเจ้าบ๊วยมาพร้อมพลังวิเศษที่ช่วยดับกระหายและคลายร้อนได้ในพริบตา งานวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อาหาร ระบุว่า ความเปรี้ยวของบ๊วยจะกระตุ้นต่อมน้ำลายให้ทำงานทันที ทำให้ปากและลำคอชุ่มฉ่ำ แม้จะอยู่ในวันที่ร้อนระอุ กรดซิตริก (Citric Acid) ในบ๊วยเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและลดความกระหายน้ำ แถมยังช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ทำงานดีขึ้นด้วย
"บ๊วย"ผลไม้จิ๋วแต่แจ๋วกับประโยชน์ต่อสุขภาพ
บ๊วยไม่ใช่แค่รสชาติดี แต่ยังมีดีต่อร่างกายเยอะมาก ทั้งลดอาการอ่อนเพลีย เพราะกรดซิตริกในบ๊วยช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน ลดความเหนื่อยล้า ช่วยย่อยอาหาร เพราะสารในบ๊วยกระตุ้นน้ำย่อย ทำให้กินข้าวแล้วไม่แน่นท้อง มีสารโพลีฟีนอลสูง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันเซลล์จากความเสียหาย
เรียกได้ว่า บ๊วยคือ "ยาอายุวัฒนะจากธรรมชาติ" ที่คนยุคดิจิทัลก็ยังได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเหนื่อยจากงานหรือร้อนจากแดด บ๊วยเม็ดเดียวช่วยได้เยอะ

ภาพประกอบข่าว บ๊วยสด
ภาพประกอบข่าว บ๊วยสด
เมนู-กิจกรรมคลายร้อนจาก "บ๊วย" ที่ต้องลอง
- น้ำบ๊วยเย็นชื่นใจ แช่บ๊วยดองในน้ำร้อน ใส่น้ำตาลนิดหน่อย แล้วเติมน้ำแข็ง ดื่มแล้วสดชื่นถึงใจ หรือจะใส่ผลไม้เพิ่ม เช่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี จัดปาร์ตีเล็ก ๆ ที่บ้าน
- บ๊วยดองคลุกข้าว วางบ๊วยดองบนข้าวสวยร้อน ๆ ใส่สาหร่ายนิดหน่อย อร่อยแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ
- ไอศกรีมบ๊วยโฮมเมด เริ่มจากทำบ๊วยดองเอง ซื้อบ๊วยสดจากตลาด หมักกับเกลือและน้ำตาล รอ 2-3 สัปดาห์ก็ได้กินแล้ว แล้วค่อยนำไปปั่นบ๊วยดองกับนมและน้ำตาล แช่เย็นจนเซ็ตตัวแข็ง ได้รสชาติเปรี้ยวหวานเย็นฉ่ำ

ภาพประกอบข่าว น้ำบ๊วยโซดา
ภาพประกอบข่าว น้ำบ๊วยโซดา
รู้หรือไม่ : บ๊วยดีต่อสุขภาพก็จริง แต่กินเยอะไปก็ไม่ดี เพราะมีเกลือและน้ำตาลสูง โดยเฉพาะบ๊วยดอง ควรกินแค่ 1-2 เม็ดต่อวัน หรือดื่มน้ำบ๊วยสักแก้วก็พอ แล้วอย่าลืมดื่มน้ำเปล่าตามเยอะ ๆ เพื่อให้ร่างกายสมดุล
แหล่งข้อมูล :
Japan National Tourism Organization, Compendium of Materia Medica, Journal of Food Science, Journal of Agricultural and Food Chemistry
อ่านข่าวอื่น :
ขนซากตึก สตง.ไปไว้ในพื้นที่ปิดของการรถไฟฯ ตร.เฝ้า 24 ชม.
เศรษฐกิจ "เอเชีย" วิกฤตเกิดคาด ภาษีทรัมป์ฉุด "หุ้นร่วง" ทั่วโลก