เทศกาลภาพยนตร์ "ชีวิตที่ไร้ตัวตน" สะท้อนชีวิตแรงงานข้ามชาติ

Logo Thai PBS
เทศกาลภาพยนตร์ "ชีวิตที่ไร้ตัวตน" สะท้อนชีวิตแรงงานข้ามชาติ

แง่มุมหลากหลายในชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมทีเพียงพอถูกนำมาถ่ายทอดในเทศกาลภาพยนตร์มูลนิธิรักษ์ไทย The Invisible People ชีวิตที่ไร้ตัวตน ด้วยต้องการให้แรงงานข้ามชาติมีชีวิตที่มีคุณภาพ และได้รับการปกป้องสิทธิของความเป็นมนุษย์

"ถ้าคุณตำรวจไม่ช่วย หนูก็ไปทำแท้งเถื่อนอยู่ดี แต่หนูก็ยังกลัว ๆ " เสียงของ วาวาไค แรงงานหญิงชาวพม่า ที่เข้าแจ้งความว่าถูกขืนใจแต่ไม่กล้าชี้ตัวคนร้าย เธอต้องการเพียงหลักฐานเพื่อใช้สิทธิทำแท้งอย่างถูกกฏหมาย สะท้อนชีวิตจริงของแรงงานข้ามชาติที่ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิที่ควรพึงมีใน ภาพยนตร์สั้น เรื่อง Overseas หรือ โพ้นทะเล สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิแก่แรงงานข้ามชาติ ได้รับคัดเลือกไปฉายที่เทศกาล Locarno ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเป็น 1 ในภาพยนตร์ที่จัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์มูลนิธิรักษ์ไทย The Invisible People ชีวิตที่ไร้ตัวตน ให้ผู้ชมได้เข้าใจสิทธิของแรงงานข้ามชาติผ่านภาพยนตร์ และหลีกเลี่ยงการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์

ขณะที่ พร้อมบุญ พานิชภักดิ์  เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย เผยว่า ต้องการให้คนไทย ได้มองว่าทุก ๆ คนเหมือนกัน คนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศก็เยอะ ยิ่งต่อไปเราจะเป็นสมาคมอาเซียนเราน่าจะต้องทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ ความฝัน และความคาดหวังของทุกคนเหมือนกัน

ขณะที่ภาพยนต์เรื่อง "8.8.88" ที่ "ทาจิ" เด็กชายชาวมอญวัย 12 ปี เลือกที่จะมานั่งคัดปลาเพื่อช่วยแม่ทำงานเลี้ยงดูน้อง ๆ ทั้ง 4 แม้ว่าอยากจะไปเรียนเหมือนเด็กคนอื่น ภาพชีวิตของลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่สะท้อนอยู่ในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้จึงเล่าถึงปัญหาปากท้องและความไม่รู้ในสิทธิขั้นพื้นฐาน อันนำไปสู่การขาดโอกาสทางการศึกษาและกลายเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ ให้ตกอยู่ในวังวนของความยากลำบาก

วันนา ศรีงาน อาจารย์ประจำศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัยเด็กต่างชาติท่าฉลอม เผยว่า โรงเรียนรัฐบาลของไทย มักจะไม่รับเด็กไร้สถานะเข้าเรียน แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบาย แต่โรงเรียนรัฐบาลก็ยังคงเปิดฌโอกาสให้เด็กไร้สถานะเข้าเรียนค่อนข้างยาก รวมถึงพ่อแม่ของเด็กเหล้านี้ก็ไม่มีเงินมากพอที่จะส่งเด็กเหล้านี้เข้าเรียนด้วย เนื่องจากค่าแรงของแรงงานข้ามชาติที่ค่อนข้างน้อย พ่อแม่บางคนแม้ว่าจะทำงานโรงงานก็จริง แต่บางคนพ่อแม่แค่แกะกุ้ง ดังนั้นรายได้เพียงวันละร้อยกว่าบาทซึ่งก็ยังคงไม่เพียงพอ

รวมถึง หนังสือภาพถ่าย The Invisible People ชีวิตที่ไร้ตัวตน ซึ่งเป็นภาพขาวดำถ่ายทอดชีวิตแรงงานข้ามชาติ บอกเล่าถึงความฝันและความยากลำบากที่ต้องเผชิญ ผ่านคำพูดของ เจ้าตัวผลงานของ นิค ดันลอป ช่างภาพชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ถูกนำมาแสดงในเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ เพื่อสื่อถึงชีวิตแรงงานข้ามชาติกว่า 2,000,000 คนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แม้จำนวนไม่น้อยเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แต่ก็มีส่วนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 1.6 พันล้านบาทต่อปี

การใช้สื่ออย่างภาพยนตร์และหนังสือไม่เพียงให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงชีวิตและปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ยังหวังเป็นอีกทางไปนำสู่การพัฒนาสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเขาพึงได้รับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง