ของหมู่บ้านนครชุมชนกลุ่มใหญ่
มีทั้งไทย พม่า แขกไม่แปลกใจ
จีน กะเหรี่ยงเข้ามาไทยเพื่อหากิน"
คำกลอนที่ชาวบ้านนครชุมช่วยกันแต่งเพื่อบอกเล่าวิถีถิ่นเมืองเก่า อย่างตลาดย้อนยุคที่สะท้อนความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันมานาน ผสมผสานจนเป็นวิถีชีวิตแบบนครชุม เห็นได้ในประเพณีชุมชน อาหารท้องถิ่น รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านโบราณ
ไม่น้อยกว่า 100 ปี ที่ชาวบ้านไตรตรึงษ์และชาวบ้านนครชุม สืบทอดบทร้อง-ท่ารำในระบำคล้องช้าง การละเล่นที่ประยุกต์มาจากการคล้องช้างลากไม้ในอดีต เนื่องจากเมืองนครชุมเคยเป็นปางไม้เก่า และคนสำคัญที่เข้ามาทำกิจการนี้คือกะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษชื่อว่าพะโป้ ที่เดินทางมาพร้อมเพื่อนรักส่างหม่อง
เสี้ยวประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ มาลัย ชูพินิจ นักเขียนผู้มีนิวาสถานในนครชุม นำเค้าโครงเรื่องมาสร้างสรรค์เป็นนวนิยายดังอมตะชั่วฟ้าดินสลาย เรื่องราวของพะโป้ยังถูกบันทึกต่อมาอย่างออกรสด้วยสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกหาบ
ขนมผักห่อ มีส่วนประกอบหลัก คือ แป้งข้าวเจ้า น้ำพริก หมูสับ และใบหอม ปรุงเป็นผักห่อ ตามตำรับอาหารพื้นบ้านไทใหญ่ เล่ากันว่าเป็นอาหารมื้อกลางวันที่พะโป้ใช้เลี้ยงลูกหาบอยู่เป็นประจำ สูตรอาหารกว่า 100 ปี เหลือสืบทอดในกลุ่มทายาทเพียง 5 ครอบครัว ที่มาของอาหาร และภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่นับวันคนรุ่นหลังจะรับรู้กันน้อยเต็มทีเป็นที่มาของการสืบค้นอดีตครั้งสำคัญในรูปแบบการทำวิจัยของคนในพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อบูรณาการประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรมของชุมชนโบราณสู่การพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนนครชุม
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับบรรยากาศตลาดย้อนยุคนครชุม เพราะจัดทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์แรกของเดือนมาเป็นเวลา 1 ปี ด้วยแนวคิดของการปิดบ้าน-เปิดตลาดและทำบรรยากาศให้มีชีวิตชีวาด้วยวิถีการค้าย้อนยุค ได้ชิมอาหารพื้นถิ่น เช่นข้าวตอกตัดที่ทุกวันนี้เหลือทำอยู่เจ้าเดียวในนครชุม และยังมีแกงหยวก ที่มีสรรพคุณทางยา นอกจากจำลองวิถีของย่านการค้าเก่า ยังส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย
ภัยน้ำท่วมและโรคระบาด ทำให้เมืองนครชุมถูกทิ้งร้างไปเกือบ 100 ปี ก่อนจะฟื้นคืนอีกครั้งในคราวที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร และเพราะเป็นชุมทางในอดีต ทำให้นครชุมเป็นแหล่งอาศัยของผู้คนหลากหลาย ทั้งไทย ลาว มอญ กะเหรี่ยง และจีน ที่มีวัฒนธรรมหลากหลายอย่างมีเอกลักษณ์
เมืองนครชุม อยู่บริเวณปากคลองสวนหมาก ฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิง สันนิษฐานว่ามีพัฒนาการของชุมชนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ เส้นทางการค้าสมัยสุโขทัย พบร่องรอยโบราณสถานขนาดใหญ่ วัดโบราณและวัดสำคัญในพื้นที่ แสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า มอญ สุโขทัยและอยุธยา
ความสมบูรณ์ของผืนป่าต้นน้ำ ตลอดจนลำน้ำในอดีต เป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงที่หลอมรวมให้ผู้คนต่างเชื้อสายตั้งรกราก ซึ่งการศึกษาความเป็นมาชุมชนผ่านการทำงานของชาวบ้าน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น นอกจากนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ มาเพิ่มคุณค่าให้นครชุมเป็นที่รู้จักในแง่แหล่งท่องเที่ยว ยังหวังใช้พัฒนาคุณภาพชุมชน ที่เป็นดังบ้านหลังใหญ่ของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์