นักวิชาการ ชี้รัฐฯ ควรเปิดโอกาสสตรีทุกคนเข้าถึง
จากการที่รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” โดยให้เงินพัฒนาจังหวัดละ 100 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุน การพัฒนาอาชีพ การสร้างโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ การพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การเพิ่มบทบาท และสร้างภาวะผู้นำสตรี
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฏหมายแห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนา เรื่อง "กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทำอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์สูงสุด" ซึ่งจัดโดย สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฏหมายแห่งชาติประเทศไทย และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ว่า กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนที่ดี เพราะจะช่วยสนับสนุนและยกบทบาทสตรีขึ้นมาในสังคม แต่ไม่ต้องการให้กองทุนดังกล่าว เป็นเพียงกองทุนสำหรับกู้ยืมเงิน เพื่อไปพัฒนาอาชีพเพียงอย่างเดียว คือ ต้องการให้อยู่ในสัดส่วนที่น้อย เนื่องจากอยากให้เงินสามารถนำไปพัฒนาสตรีในเชิงนามธรรมบ้าง เช่น การเยียวยาสตรีที่ประสบปัญหา หรือการคุ้มครองสตรีและพิทักษ์สิทธิ, การรณรงค์ให้เข้าใจถึงปัญหาสตรี รวมไปถึงการผลักดันให้สตรีมีบทบาทในแง่การเมืองมากยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเนชั่น กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการกำหนดให้กองทุนนั้นเป็นแหล่งเงิน ทุน โดยให้กู้ยืมเงินเป็นหลักใหญ่ แต่ต้องการให้กองทุนดังกล่าวที่ต้องใช้เงินทั้งหมด 7,700 ล้านบาทนั้น เกิดประโยชน์อย่างมากอย่างสูงสุดในการแก้ปัญหาของผู้หญิงในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้ล้มเลิกการกู้ยืมเงิน แต่อยากให้อยู่ในสัดส่วนที่น้อยลง นอกจากนี้ ยังระบุว่า อยากให้กองทุนดังกล่าวเปิดกว้างให้สตรีทุกคนในประเทศได้เข้าถึงทั้งหมด โดยไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิก หรือมีการระบุหลักเกณฑ์ว่าจะต้องสมัครตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิ