"สุเทพ" สู้ถอดถอนแทรกแซงข้าราชการแค่ยกแรก-คดีสลายชุมนุมปี 53 ลำดับต่อไป

27 ส.ค. 55
14:26
25
Logo Thai PBS
"สุเทพ" สู้ถอดถอนแทรกแซงข้าราชการแค่ยกแรก-คดีสลายชุมนุมปี 53 ลำดับต่อไป

ป.ป.ช.ชี้มูลนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการในกระทรวงวัฒนธรรม แม้จะเป็นการพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้ ( 27 ส.ค.) ผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในสถานะแกนนำพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ย่อมต้องมีผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ข้อกล่าวหาคือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีพฤติกรรมใช้สถานะ หรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงการปฏบัติราชการในกระทรวงวัฒนธรรม ตามคำร้องที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องอ้างอิงถึงหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกรณีแต่งตั้ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 19 คน ให้ไปช่วยราชการ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552

โดย ป.ป.ช.อ้างอิงว่า นายสุเทพกระทำการเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 268 และมาตรา 266 (1) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งว่าด้วยการห้ามไม่ให้ใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงการปฏิบัติราชการ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 ระบุว่า เมื่อวุฒิสภาได้รับเรื่องให้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาโดยเร็ว ขณะที่มาตรา 274 วางกรอบไว้แล้วว่า มติถอดถอนจะต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ ส.ว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งขณะนี้มี ส.ว.ทั้งหมด 146 คน เท่ากับมติต้องได้ 89 เสียงขึ้นไป

วันนี้ ( 27 ส.ค.) กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยวุฒิสภาลงมติ 98 เสียงให้นายสุเทพ อ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดีการแต่งตั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าไปช่วยงาน ศปภ.ในการต่อสู้คดีได้

หลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขอยื่นพยานเพิ่มเติมเป็นเอกสารคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณียกคำร้องเรื่อง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยุติธรรม ฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. แต่งตั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยไปช่วยดูแลเรื่องถุงยังชีพ เพราะเชื่อว่าลักษณะคดีคล้ายกัน และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาด้วยการเทียบเคียงคดี และ วุฒิสภาก็ลงมติอนุญาต 98 ต่อ 1 เสียง พร้อมนัดแถลงเปิดคดีวันที่ 7 กันยายน

คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องข้อกล่าวหา ผอ.ศปภ. อาจเป็นคำร้องที่อ้างถึงมาตรา 266 ตามรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่ในสาระสำคัญของคดีครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญอ้างถึงสถานการณ์อุทกภัย เมื่อปี 2554 และชี้ว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องประสานสามัคคี เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จึงวินิจฉัยยกคำร้อง

ไม่เพียงภาพรวมของคดีที่ทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องกล่าวยอมรับว่ารู้สึกหนักใจเท่านั้น แต่ภาพรวมของวุฒิสภาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รู้สึกได้ว่าผลแห่งคดีอาจตัดสินเป็นลบ และนี่คือเงื่อนไขสำคัญที่ประธานวุฒิสภาต้องออกตัวไว้ก่อน

นับจากไปนี้จนถึงวันถึงวันที่ 18 กันยายน หากวุฒิสภาลงมติถอดถอนก็เท่ากับคุณสมบัติความเป็น ส.ส.สุราษฎร์ธานีในปัจจุบันต้องหมดสมาชิกภาพลง และมีผลให้ต้องถูดตัดสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี แต่ถ้าข้ามพ้นคดีนี้ไปได้ ยังมีคดีคำสั่งสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ให้ต้องพิสูจน์บทบาทในอดีตอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง