คมนาคมเตรียมลงนาม MOU พัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น พ.ค.นี้
โครงการพัฒนาความร่วมมือระบบรางไทย-ญี่ปุ่น ได้ข้อสรุปว่าจะให้ญี่ปุ่นก่อสร้างโครงการรถไฟไทย 2 เส้นทาง คือรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. และรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ระยะทาง 670 กม.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ารัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ภายในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางจะสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกของไทย โดยขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลงฉบังไปท่าเรือทวาย และญี่ปุ่นมีแผนขยายการลงทุนการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ไปยังเมียนมาและเวียดนาม
ส่วนการสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ญี่ปุ่นจะช่วยศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างตลอดเส้นทาง นอกจากนี้ยังขอให้ญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญศึกษาและให้คำแนะนำในการวางโครงข่ายรถไฟในภาคตะวันออกของไทย เนื่องจากมีหลายเส้นทางที่อาจทับซ้อนกัน
สำหรับโครงการความร่วมมือรถไฟทางคู่ไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ นายอาคม กล่าวว่าจะใช้รูปแบบการลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วนคืองานฐานรากและการก่อสร้าง รวมทั้งการเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะใช้เงินงบประมาณรัฐและแหล่งเงินกู้ในประเทศ
ส่วนงานระบบการเดินรถ จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นนิติบุคคลทำหน้าที่ลงทุนงานระบบกับการเดินรถ โดยใช้เงินกู้จากจีน ซึ่งไทยได้เสนอขอเงื่อนไขเงินกู้พิเศษดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 2 ระยะเวลา 30 ปี และปลอดชำระหนี้ 6-7 ปี
ทั้งนี้ คาดว่าในวันที่ 6-8 พ.ค.2558 จะสรุปความก้าวหน้าการสำรวจออกแบบและความร่วมมือในการดำเนินงานและการลงทุน การจัดเตรียมบุคลากรเพื่อรับการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งเห็นชอบให้มีการทำรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 ม.