ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วุฒิสภา"เตรียมลงมติ คดีถอดถอน"สุเทพ" พรุ่งนี้

การเมือง
17 ก.ย. 55
14:06
141
Logo Thai PBS
"วุฒิสภา"เตรียมลงมติ คดีถอดถอน"สุเทพ" พรุ่งนี้

วุฒิสภาเตรียมลงมติคดีถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรณีใช้อำนาจหน้าที่ "รองนายกรัฐมนตรี"เมื่อปี 2552 ก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมในวันพรุ่งนี้ โดยประธานวุฒิสภา ยอมรับว่า อาจเป็นเรื่องยากที่มติของจะออกมาในลักษณะของการถอดถอน แม้จะมีการล็อบบี้กันเกิดขึ้นก็ตาม

แม้จะมีการขอคะแนนหรือล็อบบี้ ส.ว.ให้ลงมติในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ก็ยืนยันว่าผลของมติไม่น่าจะออกมาในลักษณะของการถอดถอน เพราะถือเป็นเรื่องยากที่วุฒิสภาจะลงคะแนนได้ถึง 3 ใน 5 หรือ 88 เสียงขึ้นไป แต่โดยส่วนตัว ประธานวุฒิสภา ระบุว่ายังไม่เห็นพฤติกรรมการล็อบบี้แต่อย่างใด

ขณะที่นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่ามีบุคคลในหลายแวดวงโทรศัทพ์มาชี้นำการลงมติไปในทางใดทางหนึ่งจริง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะขอคะแนน แต่การทำหน้าที่ย่อมเป็นดุลพินิจส่วนตัว

สำหรับการประชุมวุฒิสภาวันนี้ คู่กรณีต่างก็แถลงปิดคดีด้วยวาจา โดยนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช แถลงรวม10 ประเด็นด้วยกัน โดยทั้งหมดเป็นการหักล้างข้อมูลการไต่สวนนายสุเทพ พร้อมย้ำในพฤติกรรมของนายสุเทพที่เข้าข่ายใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงหน่วยงานของรัฐ แม้จะมีการดึงหนังสือกลับมาในภายหลังก็ตาม พร้อมระบุว่าไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ในฐานะผู้อำนวยการสูนย์ปฏบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ.แต่งตั้งส.ส.เข้าช่วยบริหารจัดการถุงยังชีพ เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แถลงปิดคดี ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ข้อกล่าวหา โดยเฉพาะใน 3 ประเด็น ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุว่า หนังสือการแต่งตั้งที่ถูกอ้างอิงเป็นหลักฐานของการพิจารณาถอดถอนนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น ก็ยังไม่ได้เปิดอ่านแต่อย่างใด และข้อความก็ไม่ได้ระบุว่า เป็นคำสั่งแต่งตั้ง หากแต่ให้รัฐมนตรีใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจดำเนินการต่อไป

นายสุเทพ ยืนยันในเจตนาว่า เป็นเพียงการประสานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับราชการและประชาชน นอกจากนั้นก็ระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็มีมติว่าหนังสือนั้น ไม่ขัดมาตรา 266 (1) ของรัฐธรรมนูญ และเชื่อมั่นว่ากรณีนี้ สามารถเทียบเคียงและพิจารณาให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ได้


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง