กลุ่มนักวิชาการ ภาคสังคม เสนอ 3 ข้อ เรียกร้องประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย
เฟซบุ๊ก "กลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย" หรือ รปป. ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักวิชาการชั้นนำ นักกิจกรรม นักศึกษา กลุ่มสหภาพแรงงาน นักเขียน ผู้กำกับ สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 150 คน อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เกษียร เตชะพีระ, จอน อึ้งภากรณ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ซะการีย์ยา อมตยา, เป็นเอก รัตนเรือง, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สฤณี อาชวานันทกุล, รวมทั้งจาตุรนต์ ฉายแสง เผยแพร่ข้อความวานนี้ (3 พ.ค.2558) ระบุถึงการเรียกร้องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1.หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา 2.หาก สปช.ให้ความเห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดให้มีการลงประชามติภายใน 30 วัน และ 3.หากประชาชนไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือประชามติไม่ผ่านให้เริ่มต้นกระบวนการร่างใหม่ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใน 45 วัน จากนั้นให้ สสร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 90 วัน เมื่อแล้วเสร็จต้องมีประชามติภายใน 30 วัน และหากผลการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังจากนั้น
กลุ่มผู้เรียกร้องประชามติระบุอีกว่าหากมีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดผลในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้เพียงให้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดำเนินการจัดทาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกระบวนการเดิม จะยังคงทำให้อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมการออกเสียงประชามติเช่นนี้ถือเป็น การออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ ซึ่งขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง
ขณะเดียวกันมีรายงานว่าเย็นวันนี้ จะมีการเปิดตัวเว็บไซต์ชื่อ www.prachamati.org ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของสื่อทางเลือกและองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วยสำนักข่าวประชาไท สำนักข่าวไทยพับลิก้า สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยจัดทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ให้เป็นพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของ 90 วันที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกหลังการอภิปรายของสภาปฏิรูปแห่งชาติเสร็จสิ้น