ครบรอบ 6 ปีรัฐประหาร
ส่วนหนึ่งในรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อการปรองแห่งชาติ หรือ คอป.มีข้อเสนอเรียกร้องให้กองทัพและผู้นำกองทัพ "วางตัวเป็นกลาง งดเว้นการก่อรัฐประหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ขณะเดียวกันบอกว่า สังคมและกลุ่มการเมืองต้องไม่สนับสนุนให้กองทัพยุ่งเกี่ยวการเมือง โดยยึดหลักการว่า กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง และ กองทัพต้องสร้างทหารอาชีพ ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ข้อเสนอแนะของ คอป. ถือเป็นการย้ำเตือนสำหรับกองทัพ เมื่อหวนกลับไปทบทวนบทบาทในอดีต ซึ่งไม่เพียงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุรัฐประหาร แต่ยังถูกผลักให้มาอยู่ตรงกลางของปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.เปิดใจว่า การทำรัฐประหารนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ และ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แม้จะว่าตัวเป็นกลางกับทุกฝ่ายแต่ปัจจัยสนับสนุนเกิดขึ้น โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนจากประชาชน พร้อมระบุ หากการเมืองการปกครองมีความเป็นธรรมยึดหลักจริยธรรมและคงความสงบเรียบร้อยอย่างต่อเนื่อง การรัฐประหารย่อมเกิดขึ้นยาก
และแม้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตสมาชิก คมช. และ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะบอกว่า ไม่อยากแสดงความเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ย้ำว่า ไม่มีสิ่งใดสำคัญเหนือพลังของประชาชน หากแต่ภายใต้การเดินหน้าพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่สามารถการันตีได้ว่า จะไม่เกิดเหตุรัฐประหารขึ้นเพราะมีหลายเงื่อนไขที่เข้ามาเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง
แต่ทั้ง พล.อ.บุญสร้าง และ พล.อ.สนธิ ซึ่งเป็นอดีตนายทหารระดับสูง ต่างกล่าวยอมรับในบทบาทของกองทัพในวันนี้ โดยเฉพาะการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง และ ตอบรับแนวนโยบายของรัฐบาล
เหตุการณ์รัฐประหาร "19 กันยายน 2549" ในมุมมองของนายทหาร,นักวิชาการหรือแม้แต่ประชาชน ต่างสะท้อนถึงบทบาทของกองทัพที่ไม่เพียงร่วมผลักดันให้นโยบายของรัฐเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน หากแต่การเข้ามาร่วมแก้ไขสถานการณ์วิกฤตของประเทศ ต้องคำนึงถึงบทบาทและภารกิจที่เหมาะสม เพราะต่างไม่ต้องการให้ทหารกลายเป็นจำเลยของสังคม
พร้อมกันนั้น ยังกล่าวยอมรับตรงกันว่า เหตุการณ์ในอดีตย่อมเป็นบทเรียนอันมีค่ายิ่งภายใต้การเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และ ถือเป็นจุดสำคัญให้ทหารได้ตระหนักถึงผลที่จะตามมา ทั้งการบริหารจัดการหลังการรัฐประหาร และผลตอบรับจากประชาชน ที่แม้ช่วงแรกจะมีเสียงชื่นชม แต่ท้ายที่สุด กลายเป็นคำถามถึงการแก้ปัญหาทางการเมืองที่ไม่ถูกวิธี