ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

7 บริษัทใหญ่ผ่านรอบแรกประมูลจัดการน้ำ รอบแรก

สังคม
21 ก.ย. 55
04:12
323
Logo Thai PBS
7 บริษัทใหญ่ผ่านรอบแรกประมูลจัดการน้ำ รอบแรก

7 รายชื่อบริษัท ที่คุณสมบัติผ่านเกณฑ์ พิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงิน 350,000 ล้านบาท รอบแรก ล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และใกล้ชิดพรรคการเมือง ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยว่า งานนี้รัฐบาลล็อคสเปคบริษัทประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ

คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงิน 350,000 ล้านบาท ประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้น 7 บริษัท จากจำนวนทั้งหมด 34 บริษัท ซึ่งมาจาก กลุ่มบริษัทไทย 2 แห่ง, เกาหลีใต้ 2 แห่ง , จีน 1 แห่ง ,กิจการร่วมค้าไทย-จีน 1 แห่ง และกิจการร่วมค้าไทย-ญี่ปุ่น 1 แห่ง

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธานและโฆษกคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. กล่าวว่า แม้จำนวนบริษัทที่ผ่านเกณฑ์รอบแรก มีจำนวนน้อย แต่บริษัทเหล่านั้น ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญ และ มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ประมูล หรือ ทีโออาร์ พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการล็อคสเปคบริษัทแน่นอน

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเห็นรายชื่อบริษัทที่ผ่านเกณฑ์รอบแรกว่า เป็นไปตามสันนิษฐานว่า น่าจะมีการล็อคสเปค เพราะ ทีโออาร์กำหนดการดำเนินงานแบบรวบรัด และบริษัทที่ได้ ล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ใกล้ชิดพรรคการเมือง พร้อมเตือนรัฐบาลดำเนินโครงการ ขัดมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2540 กรณีห้ามรัฐทำสัญญาลักษณะออกแบบเพื่อก่อสร้าง หรือ เทรน คีย์ รวมทั้ง ความเสี่ยงจากการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากการทำสัญญา ที่ไม่ควรเกิด หรือ ค่าโง่ เพราะรัฐบาลเร่งรัดก่อสร้าง โดยไม่สนใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ

สำหรับบริษัทที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติรอบแรก 27 บริษัท อนุคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เปิดโอกาสให้สอบถามและอุทธรณ์การพิจารณา ได้จนถึงวันนี้ แต่ไม่เปิดรับเอกสารคุณสมบัติเพิ่มเติม พร้อมแนะนำให้เจรจารับงานจากบริษัทที่ผ่านเกณฑ์รอบแรกแทน แต่ นายจิรโรจน์ ปิยะภรณ์พงศ์ ตัวแทนกิจการร่วมค้า วอร์เตอร์ สยาม ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ กล่าวว่า ไม่เชื่อว่า บริษัทที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกรอบแรก จะแบ่งงานให้กับบริษัทอื่น เพราะ กระทบต่อการจัดสรรงานและงบประมาณ พร้อมระบุว่า หลักเกณฑ์ในทีโออาร์ สร้างความสับสน ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ตกรอบคัดเลือกคุณสมบัติ ทำให้ ภาครัฐ เสียโอกาสรับฟังความเห็นและพิจารณากรอบแนวคิดบริหารจัดการน้ำจากเอกชน

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป คือ บริษัทที่ผ่านเกณฑ์รอบแรก ทั้ง 7 แห่ง ต้องยื่นกรอบแนวคิด หรือ Conceptual plan ฉบับย่อ พร้อมนำเสนอเทคนิค กรอบเวลา และราคาก่อสร้างงานเบื้องต้น ในวันจันทร์หน้า ก่อนให้เวลาจัดทำกรอบแนวคิดฉบับสมบูรณ์ 2 เดือน นัดสัมภาษณ์ และคัดเลือกให้คะแนน รายโครงการกลุ่มละ 3 บริษัท จากทั้งหมด 10 กลุ่มโครงการ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จ และเสนอคณะรัฐมนตรี ในเดือนมีนาคม ปี 2556


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง