ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความเห็นต่างคุณสมบัติ "ยงยุทธ" กรณีมติ อ.ก.พ.มหาดไทย

25 ก.ย. 55
15:15
31
Logo Thai PBS
ความเห็นต่างคุณสมบัติ "ยงยุทธ" กรณีมติ อ.ก.พ.มหาดไทย

กรณีปัญหาเรื่องคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จากคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยให้"ออกจากราชการ"ด้วยเหตุเกี่ยวข้องกับที่ดินอัลไพน์ ซึ่งแม้จะมีผลย้อนหลัง แต่นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ชี้ว่า คำสั่งเกิดขึ้นในปี 2555 จึงไม่สามารถรับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินในปี 2550 ได้ ขณะที่กรรมการ ป.ป.ช. ย้ำว่า หลักการรับประโยชน์จากกฎหมายล้างมลทิน จะต้องรับโทษก่อน และ ด้วยข้อสังเกตเดียวกัน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมเดินเรื่องเพื่อยื่นตีความแล้ว

 

<"">
 
<"">

แม้จะยืนยันเสียงแข็งว่า จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยเฉพาะการทำหน้าที่ประธานการประชุม ครม.ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมอบหมายไว้ เพราะเชื่อมั่นในคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุดนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯเลี่ยงไปปฏิบัติภารกิจเร่งด่วน ด้วยลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดปราจีนบุรี โดยอ้างอิงว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ติดตามแก้ปัญหาและให้กำลังใจผู้ประสบภัยแทน

ขณะที่รัฐมนตรีในรัฐบาลต่างยืนยันในคุณสมบัติของนายยงยุทธโดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การันตีว่ามีกำหนดการเร่งด่วนจริง ส่วน ร.อ.ต.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ปฏิเสธว่า ข้อหวั่นเกรงต่อปัญหาที่จะตามมาส่วนผลการประชุม ครม.ที่ใช้เวลาแค่ 30 นาทีไร้การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ,การอนุมัติงบประมาณ หรือ แม้แต่วาระรับทราบรายงาน

ปฏิกิริยาบุคคลในรัฐบาล ถือ เป็นข้อมูลที่ วิปฝ่ายค้าน ชี้ว่าจำนนต่อข้อเท็จจริงในข้อกฎหมาย  จึงเตรียมตั้งกระทู้ถามสดในสัปดาห์นี้ ขณะที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเดินหน้ารวบรวมรายชื่อ ส.ส.ให้ครบ 1 ใน 10 จากจำนวนทั้งหมด เพื่อยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายยงยุทธ

ขณะที่ประธานอนุกรรมการไต่สวนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ย้ำในหลักการรับประโยชน์จากกฎหมายล้างมลทินจะต้องได้รับโทษก่อน และ ชี้ว่า กรณีของนายยงยุทธ ไม่สามารถเทียบเคียงกับกรณีทุจริตเสือโคร่งของนายปลอดประสพได้

สอดคล้องกับหลักการที่นักวิชาการ ด้านนิติศาสตร์ รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก ชี้ว่า คำสั่งให้นายยงยุทธออกจากราชการ แม้จะมีผลย้อนหลังแต่คำสั่งเกิดขึ้นในปี 2555 เท่ากับว่า โทษและมลทินเพิ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้จึงไม่เข้าข่ายได้รับการพ้นโทษและล้างมลทิน ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 และเชื่อว่า หากกรณีความผิดเกี่ยวกับที่ดินอัลไพน์เข้าข่ายจะได้ประโยชน์ตามเกณฑ์การล้างมลทินสามารถยุติการสอบวินัยร้ายแรงไปก่อนหน้านี้ ซึ่งคงไม่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง