กรมชลประทานเสนอสร้าง 2 เขื่อนทดแทน
ป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศ เนื้อที่กว่า 24,000 ไร่ และ ป่าเบญจพรรณ อีกกว่า 30,000 ไร่ ที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่กลุ่มนักอนุรักษ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือ เต้นในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ มากว่า 20 ปี เช่นเดียวกับ ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่มั่นใจว่าเขื่อนจะทำลายวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม ที่มีการพึ่งพากันแบบบ้านพี่เรือนน้อง และสังคมเกษตรให้ล่มสลาย
กระแสต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นทำให้กรมชลประทาน ต้องเสนอทางเลือกอีกทาง ด้วยการก่อสร้างเขื่อนขนาดกลาง 2 แห่งแทน คือเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน ห่างจากจุดสร้างแก่งเสือเต้นไปทางทิศเหนือ 25 กิโลเมตร และ เขื่อนแม่น้ำยม ห่างจากจุดสร้างแก่งเสือเต้นทางทิศใต้ 12 กิโลเมตร โดยระบุว่าเขื่อนใหม่จะส่งผลกระทบกับป่าและชาวบ้านน้อยกว่า แต่จะกักเก็บน้ำได้เพียง 666 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 50 ของเขื่อนแก่งเสือเต้นและจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม จังหวัดแพร่ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ได้เพียงบางส่วน
เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นประเด็นความเห็นต่างที่ไร้ข้อสรุป เนื่องจากต่างฝ่ายต่างยืนยันในข้อมูลของตนเอง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงชาว บ้าน น่าจะร่วมมือหาข้อมูลที่เท็จจริง เพื่อหาทางออก
ล่าสุดชาวบ้านกว่า 700 คน รวมตัวกันที่วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เพื่อแสดงจุดยืนไม่ให้สร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำยม หลังรัฐบาลไม่ทำตามเงื่อนไขคือกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็ก ทั้ง 77 แห่ง และ กั้นเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง เนื่องจากเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะจะกักน้ำได้เพียง 11 ลุ่มน้ำ อีก 66 ลุ่มน้ำยังปล่อยเสรี ซึ่งจะส่งผลกระทบได้เหมือนปี พ.ศ. 2554 และ 2555