วงกลมสีแดงแทนสัญลักษณ์การเซ็นเซอร์อุปกรณ์ประกอบการแสดงที่ตัวละครนำไปติดตามสิ่งต่าง ๆ ที่มองว่าไม่เหมาะสม ล้อระบบเซ็นเซอร์ในสังคมไทยที่มักถูกตีกรอบเสรีภาพทางความคิดจากผู้มีอำนาจในมือ รวมถึงการให้ผู้ชมมีอิสระในการเลือกที่นั่งที่วางอย่างระเกะระกะ และสามารถลุกไปไหนก็ได้ขณะชมการแสดง สะท้อนประเด็น "เสรีภาพ" ในละครเวที เรื่อง "บางละเมิด" เสนอมุมมองของคนในเมืองใหญ่ ที่พยายามปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และพื้นที่ส่วนตัว ไม่ให้ถูกรุกล้ำจากสิ่งรอบข้าง ให้คนดูร่วมแสดงและตีความ ผ่านฝีมือกำกับ เขียนบท และนำแสดง ของ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์
ฉากครูสอนยิ้มให้ผู้ชมร่วมแสดงรอยยิ้มแบบไทย พร้อมกับตั้งคำถามว่า เรายิ้มไปทำไม คือ เอกลักษณ์ของคนไทย หรือ เรายิ้มไปเพราะไม่มีทางเลือก หัวที่ติดอยู่กับโต๊ะเอาออกไม่ได้ ท่ามกลางชื่อของภาพยนตร์ที่โดนแบน และ แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ที่ฉายบนผนัง สื่อความอึดอัดที่ติดในกรอบของสังคม
หลากประเด็นในละครถูกนำมาแลกเปลี่ยนในวงสนทนาหลังจบการแสดง คือ ความต้องการของผู้จัดที่อยากฟังความคิดอันหลากหลายที่ผุดขึ้นจากการชมละคร เพราะหากพื้นที่เล็ก ๆอ ย่างห้องนี้มีผู้คนตีความต่างไป ย่อมมีความต่างทางความคิดมากมายในพื้นที่ใหญ่อย่างประเทศชาติ
แม้จะเป็นละครในห้องเล็ก ๆ ที่จุผู้ชมได้กว่า 40 แต่ความท้าทายของ “บางละเมิด” คือการตรึงสายตาคนดูด้วยนักแสดงเพียงคนเดียว อย่าง อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ที่ควบตำแหน่งผู้กำกับและเขียนบท ซึ่งเคยได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากเทศกาลละครกรุงเทพมาแล้ว หวังสื่อสารมุมมองของเธอต่อเสรีภาพในสังคมไทย โดยไม่ต้องการยัดเยียดแนวคิดใดให้กับผู้ชม เพียงต้องการตั้งคำถาม และ แลกเปลี่ยนผ่านละครเรื่องนี้ “บางละเมิด” จัดแสดงถึงวันที่ 24 ก.ย. ณ ห้องบีฟลอร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์