มองไปข้างหน้ากับ
สังคมจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากทีดีอาร์ไอยุคใหม่
ทีดีอาร์ไอตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2527 ตอนนี้มีอายุ 28 ปีแล้ว เราสะสมทุนทางปัญญาความรู้มาอย่างต่อเนื่อง ช่วงที่ผ่านมาก็มีตั้งแต่ช่วงที่ก่อร่างสร้างตัว ถ้าเปรียบเป็นคนก็เป็นเด็ก ถึงวันนี้ทีดีอาร์ไออายุเกินเบญจเพสแล้ว อยู่ในวัยที่น่าจะมีกำลังวังชามากที่สุด ด้วยชื่อเสียงและความเข้มแข็งขององค์กรที่สะสมมาเกือบสามสิบปีจากผู้บริหารหลายรุ่นก่อนหน้า ทำให้เรามีความพร้อมที่จะก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง ก้าวต่อไปที่ว่านี้ก็คือ การทำให้ทีดีอาร์ไอมีส่วนช่วยสังคมมากขึ้นในการวิเคราะห์ ในการผลักดันนโยบายสาธารณะ ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ มากขึ้น
ที่ผ่านมาเราเน้นการทำวิจัยมาก การวิจัยถือว่าเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว แต่การทำวิจัยในยุคที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเมืองในการกำหนดนโยบายเปลี่ยนไป การทำวิจัยเชิงนโยบายที่จะให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มันก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เปลี่ยนตั้งแต่วิธีตั้งโจทย์ กระบวนการตั้งโจทย์วิจัยควรดึงผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่มีพลังต้องการปฏิรูปกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันมากขึ้น
ในการทำวิจัย เรายังต้องคงคุณภาพของการวิจัยไว้ เพราะเป็นหัวใจของความเป็นนักวิชาการ แต่หลังจากทำวิจัยเสร็จแล้ว ต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกับสังคมในการสื่อสารความคิด ทำงานกับผู้กำหนดนโยบายและผลักดันให้นโยบายที่ควรจะเป็นเกิดขึ้นได้จริง
ทีดีอาร์ไอยุคต่อไปจะให้น้ำหนักกับการตั้งโจทย์วิจัยที่มีความหมายกับสังคมและดึงผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งโจทย์วิจัย รวมถึงการจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ โดยทำงานร่วมกับสังคมเพิ่มมากขึ้น
อาจารย์ประเมินบทบาทที่ผ่านมาของทีดีอาร์ไออย่างไร เจตนารมณ์ของทีดีอาร์ไอคือการเป็น think tank ที่มีความเป็นอิสระ 28 ปีผ่านไป เราไปถึงจุดนั้นแล้วหรือยัง
เรื่องความเป็นอิสระน่าจะเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ความเป็นอิสระขององค์กรนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ด้วยการที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐ ผู้ก่อตั้งทีดีอาร์ไอมีวิสัยทัศน์อยากให้ทีดีอาร์ไอเป็นหน่วยงานวิจัยด้านนโยบายที่มีความอิสระจากรัฐ โดยตั้งเป็นมูลนิธิ
ในด้านความเป็นอิสระทางการเงิน เราก็ประสบความสำเร็จ แม้ว่ารายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐในการช่วยแก้ปัญหาทางนโยบายต่างๆ ก็ตาม แต่ว่าแหล่งเงินทุนได้กระจายไปหลายหน่วยงานมาก ไม่ได้พึ่งหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว และมีนโยบายที่ไม่ได้เน้นการเพิ่มรายได้ จึงเป็นโมเดลทางการเงินที่สร้างความมีอิสระได้ดี ประกอบกับความเป็นอิสระของนักวิชาการข้างในเอง ที่แต่ละคนรักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผนวกกับพลังทางวิชาการที่สะสมมาอย่างยาวนาน ทำให้สถาบันมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง
แล้วในแง่ความเป็น think tank
สำหรับด้านความเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบาย ในแง่ของการวิเคราะห์นโยบายน่าจะได้ผลดีพอสมควร นักวิชาการในสถาบันหลายคนเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ตั้งแต่อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อถือสูง นักวิจัยหลายคนในสถาบันก็ได้รับความเชื่อถือจากสังคมสูง เพราะฉะนั้น มองในมุมของการเป็นคลังสมองในเรื่องของการวิเคราะห์นโยบายนั้นถือว่าทำได้ดี
จุดที่ยังทำได้ไม่ค่อยดีก็คือ เมื่อวิเคราะห์และนำเสนอนโยบายแล้ว เอาข้อเสนอเชิงนโยบายนั้นไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง จุดนี้ยังเรียกว่าประสบความสำเร็จไม่มากเท่าไร
แต่ก็มีบางเรื่องที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น การยกเลิกพรีเมี่ยมข้าว ซึ่งถือว่ามีผลสำคัญในการช่วยเกษตรกร เรื่องการเปลี่ยนจากนโยบายจำนำสินค้าเกษตรไปสู่นโยบายการประกันราคา หรือที่เรียกกันว่าประกันรายได้ เราก็มีส่วนช่วยร่วมกับนักวิชาการอื่นๆ ทำให้เกิดผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ แต่น่าเสียดายที่เมื่อมีผลเปลี่ยนแปลงไปแล้วมันไม่ยั่งยืน กลับมาเป็นนโยบายการจำนำสินค้าเกษตรและก็มีปัญหามากมายในปัจจุบัน แต่อย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้เห็นว่า มีทางเลือกในการช่วยเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพ และมีการกระจายรายได้ที่ตรงเป้ามากกว่า
เรื่องนโยบายด้านการปฏิรูปสื่อ เราก็มีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายร่วมกับภาคีปฏิรูปสื่อ จนเกิดผลรูปธรรมหลายเรื่อง เช่น การทำกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ 3–4 ฉบับ เช่น กฎหมาย กสทช. ซึ่งทำให้ การแต่งตั้งกรรมการ กสทช. เกิดขึ้นได้จริง หลังจากล่าช้าตั้งไม่ได้มาหลายปี และกสทช. กลายเป็นองค์กรกำกับดูแลที่น่าจะถูกตรวจสอบได้มากขึ้น แม้จะยังมีปัญหาอยู่มาก กฎหมายการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ ปี 2551 ซึ่งทำให้มีทีวีดาวเทียมเกิดขึ้นมาหลายร้อยช่องตามความต้องการของตลาดที่อยากจะมีอยู่แล้ว กฎหมายก็ออกมาเสริมให้เกิดขึ้นได้ เกิดเคเบิลทีวีที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และกฎหมายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ปี 2551 ซึ่งทำให้เกิดทีวีสาธารณะคือ ไทยพีบีเอส
บางเรื่องคนทำวิจัยเองก็ไม่รู้ว่าการทำวิจัยทำเกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย เช่น เรื่องของตลาดทองคำ ที่เราทำวิจัยแล้วส่งผลในการนำการค้าทองคำเข้ามาอยู่ในระบบ โดยยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ระบบการค้าทองคำล่วงหน้าอย่างที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นไปได้ เรื่องนี้คนในวงการนำมาเล่าให้ฟังทีหลังว่า เป็นผลมาจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ โดยอาจารย์นิพนธ์ (พัวพงศกร) และอาจารย์เดือนเด่น (นิคมบริรักษ์)
ตัวอย่างทำนองนี้มีอยู่พอสมควร แต่ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เราก็ยังรู้สึกว่ายังทำงานส่วนนี้ได้ไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับศักยภาพของนักวิจัยที่มีอยู่ เราควรจะทำได้ดีกว่านี้อีก และเมื่อเทียบกับความคาดหวังของสังคมแล้ว เราควรจะทำได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า
การผลิตบทวิเคราะห์ การทำงานวิชาการ และความเป็นอิสระนั้น ทีดีอาร์ไอทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี แต่การสร้างผลกระทบ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมยังเป็นโจทย์ท้าทายให้ทีดีอาร์ไอต้องทำงานหนักขึ้น อาจารย์จะตอบโจทย์นี้อย่างไร
การสร้างผลกระทบทางนโยบายทำได้ยากขึ้น เพราะว่าสภาพแวดล้อมในการกำหนดนโยบายเปลี่ยนไปมาก แต่เดิม ซึ่งเมื่อทำวิจัยเสร็จแล้วก็ยื่นให้ผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจเห็นด้วยก็นำไปปฏิบัติ มันตรงไปตรงมา มันง่าย แต่สภาพแวดล้อมในการกำหนดนโยบายในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น การเมืองเป็นประชาธิปไตย มีกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าอดีต ภาคประชาสังคมและประชาชนก็เข้มแข็งขึ้น การกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะในยุคที่มีความขัดแย้งสูงอย่างในปัจจุบัน ทำได้ยากมาก อันนี้เป็นความท้าทายใหม่ เป็นสภาพแวดล้อมใหม่ซึ่งทุกคนประสบ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมก็บ่นว่า จะรวมตัวกันเสนอนโยบายกับรัฐบาลอย่างไรให้เกิดผล ก็ทำกันได้ยาก เพราะรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกันไปเรื่อย
ความท้าทายนี้ทำให้เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของเรา ต้องมาคิดรูปแบบในการทำงานใหม่ การทำงานประเภทที่ว่า ได้โจทย์วิจัยมาจากหน่วยงานรัฐ หรือมีผู้มีอำนาจสั่งให้มีโจทย์วิจัยอย่างนั้นอย่างนี้ ทำงานวิจัยออกมา วิเคราะห์อย่างดี จัดทำข้อเสนอแนะให้รัฐบาล แล้วหวังว่าจะเกิดผล มันทำได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน ที่สำคัญไม่มีใครจะกำหนดโจทย์วิจัยที่เป็นโจทย์สำคัญจริงๆ ของประเทศ ถ้าให้หน่วยราชการกำหนดโจทย์ก็จะกำหนดแต่โจทย์ที่เกี่ยวข้องเฉพาะหน่วยงานของตนเอง กรมใครกรมมัน สำนักงานใครสำนักงานมัน กระทรวงใครกระทรวงมัน มันไม่มีโจทย์ที่เป็นปัญหาใหญ่ๆ จริงๆ ของประเทศ ปัญหาใหญ่ๆ มันข้ามกระทรวง ทบวง กรม เช่น ปัญหาความยากจนมันกินแดนตั้งหลายเรื่อง ปัญหาการสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม มันยังไปเกี่ยวกับกระทรวงอื่นๆ อีกเยอะแยะไปหมด แล้วก็ยังมีองค์กรอิสระต่างๆ เพราะฉะนั้น กระบวนการตั้งโจทย์โดยรอหน่วยราชการตั้งโจทย์ ในสภาพที่หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้มีความเป็นปึกแผ่น ไม่ได้มีเอกภาพ ก็จะไม่ได้โจทย์ที่ใหญ่สำหรับตอบปัญหาของประเทศได้
เรื่องของการตั้งโจทย์วิจัยจึงต้องเปลี่ยนไป ต้องมีการตั้งโจทย์เอง โดยริเริ่มจากนักวิจัย ร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียจากภายนอก ร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย ร่วมกับคนที่ต้องการปฏิรูป ทั้งในภาคธุรกิจและประชาสังคม ต้องการเห็นประเทศดีขึ้น ทั้งหมดมากำหนดโจทย์ร่วมกัน มีกระบวนการกำหนดโจทย์ที่คิดอย่างรอบคอบมากขึ้น เป็นโจทย์ที่ต้องมุ่งแก้ปัญหาใหญ่จริงของประเทศ เช่น ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำ ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาสวัสดิการสังคม เรื่องใหญ่ๆ แบบนี้จะต้องมีการช่วยกันคิดโจทย์ เราในฐานะนักวิชาการก็เป็นผู้ยกร่างข้อเสนอ ยกร่างตัวโจทย์ แล้วก็ฟังความเห็นของคนหลากหลาย ฟังให้รอบด้าน หลังจากนั้นก็ทำเป็นโปรแกรมวิจัย (research program) ที่ต่างไปจากเดิม คือเน้นทำเรื่องใหญ่และทำอย่างต่อเนื่องหลายปี จนได้องค์ความรู้ที่เข้มแข็ง มีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนและเป็นไปได้จริง
ณ วันนี้ อะไรคือโจทย์สำคัญๆ ของประเทศไทยที่ชวนหาคำตอบ
จริงๆ ก็มีการระดมความคิดกันหลายๆ วง แต่ละวงก็คงเห็นไม่ต่างกันมาก เช่น คณะกรรมการปฏิรูปก็จะเป็นโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ โจทย์เรื่องระบบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นยังมีโจทย์เรื่องคุณภาพการศึกษา สภาหอการค้าไทยและภาคธุรกิจสนใจโจทย์เรื่องคอร์รัปชั่น ภาคเอกชนก็จะพูดเรื่องการขาดความสามารถในการแข่งขัน แทบทุกวงแทบจะพูดตรงกัน แต่โจทย์เหล่านี้ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพจริงๆ
ทีดีอาร์ไอจะมีส่วนในการตอบโจทย์ยากๆ และท้าทายเหล่านี้อย่างไรบ้าง
อย่างที่บอกตอนแรก ต้องมีการกำหนดโจทย์ที่ใหญ่ วางแผนการทำวิจัยที่มีลักษณะต่อเนื่องหลายปี ทำกันอย่างจริงจัง แทนที่จะวิ่งทำแต่โจทย์เล็กๆ คิดแต่ปัญหาเล็กๆ เพราะปัญหามันใหญ่ก็ต้องคิดโจทย์ใหญ่ จัดทีมขึ้นมาทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ และเมื่อทำวิจัยเสร็จ ก็ไม่ได้แปลว่าจบที่รายงานการวิจัย มันต้องมีกระบวนการจัดการความรู้ เผยแพร่ ทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนกับสังคมในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะผ่านสื่อสารมวลชน ผ่านการจัดเวทีกับกลุ่มต่างๆ เราต้องจัดทีมขึ้นมาทำเป็นการเฉพาะ เพื่อจะให้กระบวนการสื่อสารสาธารณะมีประสิทธิผล
นอกจากทำงานกับกลุ่มต่างๆ แล้ว ที่ขาดไม่ได้คือต้องทำงานกับผู้กำหนดนโยบาย ต้องมีกระบวนการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัย ถ้าหวังผลในเชิงนโยบายแล้ว นอกจากคิดในเชิงวิชาการที่ต้องมีความถูกต้องแล้ว ข้อเสนอที่เสนอขึ้นต้องมีรายละเอียดเพียงพอ นำไปปฏิบัติได้ แล้วก็มีความเข้าใจมุมของผู้ปฏิบัติด้วย คือ เป็นไปได้ในทางการเมือง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
โดยสรุปก็คือ เราต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ที่ผ่านมาเราสนใจงานกลางน้ำมาก กลางน้ำคือการทำวิจัย ก้มหน้าก้มตาทำวิจัย ออกภาคสนามทำการสำรวจ เขียนงานกัน อ่านหนังสือกัน วิเคราะห์กัน แต่งานต้นน้ำคือการกำหนดโจทย์วิจัย กับงานปลายน้ำคือการนำผลการวิจัยไปจัดการและสื่อสารกับสาธารณะยังทำไม่เต็มที่
อาจารย์พูดถึงโจทย์สำคัญๆ หลายโจทย์ ทีดีอาร์ไอมีแผนการที่จะตอบโจทย์สำคัญๆ เหล่านี้อย่างไรบ้าง
โดยรูปธรรมเลย ทีดีอาร์ไอจะตั้งโปรแกรมการวิจัยมาทำงานในโจทย์สำคัญๆ เหล่านี้ และทำอย่างต่อเนื่องกัน 3–5 ปีขึ้นไป เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่หนักแน่นพอ และนำไปใช้ได้จริง โปรแกรมการวิจัยเหล่านี้ได้แก่
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศใหม่
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทยในปัจจุบันน่าจะถึงทางตันหรือไปได้ยากขึ้นทุกวันแล้ว การพึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่มีทรัพย์สินทางปัญญาและไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง การพึ่งการส่งออกโดยละเลยกำลังซื้อในประเทศ การใช้แรงงานราคาถูก การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมราวกับไม่มีต้นทุน โมเดลแบบนี้ไปไม่ได้แล้วในโลกที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจมันช้าลง ความต้องการในตลาดโลกเปลี่ยนไปจากสมัยที่ประเทศไทยเคยโตเร็วๆ มีประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ตลาดโลกจำนวนมาก
ฉะนั้นการแข่งขันในตลาดโลกจึงรุนแรงมาก ต้องเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ในเวลาเดียวกันก็มีแรงกดดันจากค่าแรงในประเทศที่สูงขึ้น ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาโลกร้อน และการใช้พลังงานเป็นโจทย์ใหญ่ในระดับโลก ธุรกิจไทยจะอยู่รอดไม่ได้ถ้าไม่ได้ปรับเรื่องพวกนี้
เราต้องหาโมเดลใหม่ในการพัฒนา ซึ่งจะต้องคิดประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง 1) นโยบายมหภาคและนโยบายการเงินการคลัง ที่จะเอื้อต่อการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่ 2) นโยบายระดับจุลภาคเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรมแรงงาน ซึ่งจะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพของคน การแก้กฎระเบียบของรัฐต่างๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และ 3) สวัสดิการสังคม ที่ต้องปรับขึ้นมาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีความผันแปรและความเสี่ยงมากขึ้นด้วย
2.การปฏิรูปการศึกษา
โปรแกรมการวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่ เป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อน ต้องออกแรงทำเป็นพิเศษ และต้องทำงานร่วมกับภาคีมากมาย นี่เป็นการทำงานต่อเนื่องมาจากสมัยอาจารย์นิพนธ์ เป็นประธานสถาบัน นั่นคือ การปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึงสำหรับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมีฐานะทางสังคมอย่างไร ให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน โดยเพิ่มศักยภาพของคนแต่ละคน เพื่อให้สามารถมีโอกาสก้าวหน้าทางสังคม และมีทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและโลกในศตวรรษที่ 21 หัวใจสำคัญของการยกเครื่องระบบการศึกษาคือการออกแบบระบบการศึกษาให้มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อนักเรียนและผู้ปกครอง
3. การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น
ภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาหอการค้าไทยและเครือข่ายตื่นตัวเรื่องนี้มาก หน่วยงานวิชาการอย่างเราก็มีหน้าที่เข้าไปสนับสนุน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพราะคอร์รัปชั่นเป็นคอขวด เป็นจุดตายสำหรับการแก้ปัญหาทางนโยบายหลายเรื่อง เช่น เทคโนโลยีพัฒนาไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า หน่วยงานรัฐยังเน้นการซื้อของ ชอบซื้อเพราะมีใต้โต๊ะง่าย แต่การลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ความคิด มันมีใต้โต๊ะได้น้อยกว่า ก็เลือกไปใช้วิธีซื้อของกันหมด การพัฒนาเทคโนโลยีก็เป็นไปไม่ได้ การปฏิรูปการศึกษาบางเรื่องมันก็ไปติดที่มีคนบางส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชั่นอยู่ มันก็ไปเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องคอรัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข
4. การปฏิรูปกฎหมาย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เราสนใจ คือ กฎหมายเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ได้กฎหมายเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ และมีความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ
ทีดีอาร์ไอจะดำเนินโครงการวิจัยเพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศเหล่านี้ โดยจะระดมคนในทีดีอาร์ไอ และทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ นักวิชาการภายนอก ภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้กำหนดนโยบาย อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่า นี่เป็นหน้าที่ของเราในฐานะที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นคลังสมองของประเทศ.