หลายจังหวัดภาคใต้ เริ่มแล้ว
ชาวไทยเชื้อสายจีน ในจ.สงขลา ร่วมพิธีรับองค์เทพเจ้า ดาวนพเคราะห์ ทั้ง 9 ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเทศกาลถือศีลกินเจตามความเชื่อ และเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มเทศกาลในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 14-23 ตุลาคม
เช่นเดียวกับในหลายจังหวัด ที่มีชื่อเสียงเรื่องเทศกาลกินเจ โดยที่จ.ตรัง ประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ไปร่วมพิธียกเสาเต็งโก ที่ศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย ศาลเจ้าที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก
ส่วนที่จ.ภูเก็ตปีนี้ มีนักท่องเที่ยว ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยจะมีพิธีอัญเชิญเทพเจ้าในช่วงเย็นวันนี้ เช่นเดียวจ.นครสวรรค์ ที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก ศาลเจ้าต่าง ๆ เร่งเตรียมโรงทาน เพื่อรองรับเทศกาลถือศีลกินเจช่วงเย็นนี้
ส่วนในจ.อุทัยธานี จัดขึ้นบนยอดเขาสะแกกรัง อ.เมือง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ประชาชนจำนวนมาก ร่วมกันปฏิญาณตน และเปิดโรงทานตลอดเทศกาล
ขณะที่อาหารเจปรุงสำเร็จมีราคาสูงกว่าอาหารทั่วไป เช่น ที่จ.ศรีสะเกษ ราคาแพงกว่า 5 - 10 บาท ซึ่งผู้ประกอบการ อ้างว่า ผักมีราคาสูงขึ้น
ส่วนผักสดและผลไม้ทุกชนิดปรับราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัว พ่อค้าแม่ค้าในจ.ยโสธร บอกว่า ผักที่นำมาขายส่วนใหญ่ รับมาจากภาคกลาง ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วม มีผลผลิตน้อย ทำให้ราคาแพงขึ้น
การสำรวจพื้นที่ภาคกลาง เช่น จ.อ่างทอง พบว่า ราคาผักคะน้า ปรับขึ้นจากกิโลกรัม ละ 20-30 บาท เป็น 45-50 บาท ผักชี กิโลกรัมละ 30 บาท เป็น 200 บาท นอกจากนี้ ยังพบว่าผักหลายชนิด เริ่มขาดตลาด เพราะสวนผักหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย
ขณะที่ผู้ประกอบการไทย ต้องนำเข้าผักหลายชนิดจากประเทศจีน เช่น กะหล่ำปลี บล็อกโครี่ คะน้า รากบัว และมะเขือเทศ ผ่านท่าเรือเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อส่งไปยังตลาดค้าส่งในกรุงเทพมหานครฯ ก่อนจะกระจายไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาเชียงของ-เชียงแสน ได้เก็บตัวอย่างผักไปตรวจสารเคมีตกค้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน นำเข้าผักมากถึงวันละ 15 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมากกว่าช่วงปกติถึงร้อยละ 30