ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้ตรวจสอบถนนจตุรมิตร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านโทรศัพท์สายด่วน 191 ว่ามีการแข่งขันรถจักรยานยนต์ในช่วงกลางคืน และพบว่า มีเยาวชนซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี และ อายุเกิน 18 ปี มารวมกลุ่มกันและขับรถจักรยานยนต์บนนถนนดังกล่าว และ มีการขับขี่ที่เข้าข่ายเป็นอันตรายคือ การขับรถศร โดยทีมข่าวยังไม่พบว่า สถานีตำรวจในพื้นที่นำอุปกรณ์สกัดจับมาใช้เพื่อสกัดจับรถจักรยานยนต์ดังกล่าว
กลุ่มเยาวชนที่ขับรถจักรยานยนต์บนถนนดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับการนำอุปกรณ์สกัดจับนี้มาใช้ เพราะเกรงว่า อาจเกิดอุบัติเหตุกับชีวิตและร่างกายได้ พร้อมมองว่า ตำรวจควรใช้มาตรการเดิมคือ การนำรถยนต์มาปิดถนน หรือ ตั้งด่านสกัดจับเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนถนนที่มีการร้องเรียนว่ามีการขับรถจักรยานยนต์แข่งกันมากที่สุดคือ ถนนเพชรบุรี ขาเข้า ตั้งแต่แยกประตูน้ำ-แยกอุรุพงษ์, ถนนเพชรบุรี ขาออก ตั้งแต่แยกชิดลมเพชร-แยกอโศกเพชร, ถนนราชวิถี ตั้งแต่แยกสามเหลี่ยมดินแดง-แยกตึกชัย, ถนนพระราม 4 ตั้งแต่แยกกล้วยน้ำไท-แยกคลองเตย, ถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่ที่หน้าสนามบินดอนเมือง-ใต้ด่วนดินแดง และ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม
สำหรับมาตรการจับรถจักรยานยนต์แข่งขับบนถนนเป็นนโยบายที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 , 2 และ 7 จะต้องบูรณาการร่วมกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน รวมถึงควรมีการตั้งรองผู้บัญชาการในแต่ละภาคเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ
โดยมีอุปกรณ์สกัดจับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งจัดทำคือ อุปกรณ์ที่เป็นเครื่องมือลักษณะเป็นแขนกล มีความยาวประมาณ 4เมตร และมีเหล็กปลายแหลม ตั้งขึ้นมา เมื่อรถจักรยานยนต์ที่มีการขับแข่งกันผ่านเครื่องมือนี้จะทำให้ยางรถรั่ว และ ค่อย ๆ แบนลง ในระยะทางประมาณ 30-50เมตร ซึ่งจะง่ายต่อการเข้าจับกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว โดยยืนยันว่า อุปกรณ์เหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบมาแล้ว 6 เดือนและไม่เป็นอันตรายทำให้เกิดอุบัติเหตุ