หลายหน่วยงานเดินหน้าตรวจสอบประมูล 3 จีเข้าข่าย พ.ร.บ.ฮั้วหรือไม่
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เตรียมหารือแนวทางคืนคลื่นหลังสัมปทานคลื่นความถี่ในย่าน 1,800 และ 2,300 เมกะเฮิรตซ์ ของเอกชนหลังหมดสัญญามาทำเป็นโครงข่ายโครงการรัฐบาล เช่น โครงข่ายแท็ปเลตนักเรียน แทนการให้เอกชนประมูล ส่วนกระบวนการประมูล 3 จีที่มีข้อกังขา นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า จะไม่ก้าวล่วงแม้เห็นว่าควรต้องเดินหน้าต่อ หากมีเรื่องไม่ถูกต้องต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิสูจน์และหาทางแก้
โดยวันที่ 25 ต.ค.นี้อนุกรรมาธิการกฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา จะเชิญคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดทำผลการศึกษากำหนดราคาเริ่มต้นประมูล 3 จี และ คณะทำงาน กสทช.ที่ดำเนินการจัดประมูลมาชี้แจง
หลังจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ประธานอนุกรรมาธิการชุดนี้ เปิดเผยความเห็นอนุกรรมาธิการฯว่า การประกาศรับรองผลประมูล 3 จี ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 18 ต.ค.นี้เข้าข่ายขัดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10, 11 และ 12 ซึ่งเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อการเสนอราคาของเอกชน ซึ่งมีโทษปรับและจำคุก
นอกจากนี้วันที่ 22 ต.ค.กรรมาธิการฯเตรียมทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อยืนยันสิ่งที่ กสทช.ชี้แจงต่อสาธารณะในประเด็นการประมูล 3 จี ที่ว่าในวันประมูล มีผู้แทนจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ รวมถึงทั้ง 2 หน่วยงานที่ร่วมสังเกตการณ์การประมูล และยืนยันว่ากระบวนการประมูลถูกต้องนั้นเป็นความจริงหรือไม่
ส่วนกลุ่มกรีนจะยื่นกล่าวโทษ กสทช.และเอกชนทั้ง 3 ราย ว่า มีพฤติกรรมฮั้วประมูลหรือไม่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พร้อมกับยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งรัดใช้สิทธิทางศาลแทนประชาชน เพื่อร้องให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน ระงับการออกใบอนุญาต 3 จีไว้