ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โอบาม่า" ชนะ "รอมนีย์" ในดีเบตรอบสุดท้าย ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ต่างประเทศ
23 ต.ค. 55
08:04
65
Logo Thai PBS
"โอบาม่า" ชนะ "รอมนีย์" ในดีเบตรอบสุดท้าย ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกเพียงสองสัปดาห์ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งการประชันวิสัยทัศน์หรือการดีเบตรอบที่สามซึ่งเป็นรอบสุดท้าย ผลสำรวจส่วนใหญ่มองว่านายบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดี เป็นฝ่ายชนะการดีเบตในรอบนี้

ผลการสำรวจของสถานีโทรทัศน์ "ซีบีเอส" ให้โอบาม่าจากพรรคเดโมแครตมีคะแนนนำ โดยได้คะแนนร้อยละ 53 ส่วนนายมิตต์ รอมนี่ย์ จากพรรครีพับลิกันได้ร้อยละ 23 และที่เหลือร้อยละ 24 เห็นว่า ทั้งคู่ทำได้ดีพอ ๆ กัน

ในขณะที่ผลการสำรวจของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นให้โอบาม่าเป็นฝ่ายชนะ โดยได้คะแนนร้อยละ 48 ส่วนรอมนี่ย์ได้ร้อยละ 40 ประเด็นสำคัญของการประชันวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ อยู่ที่เรื่องนโยบายด้านต่างประเทศ ซึ่งเน้นไปที่สถานการณ์ในตะวันออกกลาง

รอมนี่ย์ระบุว่า การที่เอกอัครราชทูต และเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เสียชีวิตจากเหตุการณ์โจมตีสถานกงสุลในเมืองเบงกาซีของลิเบีย ปรากฏการณ์อาหรับสปริง การขยายฐานอำนาจของจีน และโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่มีความก้าวหน้าไปมาก

ล้วนแต่เป็นผลพวงจากนโยบายต่างประเทศที่อ่อนแอของรัฐบาลโอบาม่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันรอมนี่ย์ได้กล่าวชื่นชมผลงานของโอบาม่าในการสังหารอุซามะห์ บินลาเดน แกนนำกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่กบดานอยู่ในปากีสถาน รวมถึงแผนการถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2557

รอมนี่ย์กล่าวว่าสิ่งที่โอบาม่าควรทำคือหาทางยุติความรุนแรงในซีเรีย และเพิ่มมาตราการคว่ำบาตรอิหร่าน เพื่อกดดันอิหร่านให้ยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์

ในขณะที่โอบาม่า โต้กลับว่า นโยบายต่าง ๆ ที่รอมนี่ย์นำมาใช้ในการหาเสียง ล้วนแต่เป็นนโยบายเก่า อย่างการต่างประเทศที่รอมนี่ย์เคยพูดว่ารัสเซียเป็นศัตรูของสหรัฐฯ ซึ่งแนวคิดแบบนี้เป็นความคิดในยุคปี 80 ส่วนนโยบายทางสังคมก็เป็นของยุค 50 และนโยบายด้านเศรษฐกิจก็เป็นของยุค 20

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอเมริกันมองว่า การประชันวิสัยทัศน์ในรอบนี้ นายรอมนี่ย์รู้ตัวดีว่าเป็นรองในประเด็นเรื่องต่างประเทศ ดังนั้นรอมนี่ย์จึงไม่ใช้วิธีรุกหนัก แต่เขาพยายามจะเลี่ยงคำถาม และหันไปพูดประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาถนัดมากกว่า

อย่างไรก็ดีหลายฝ่ายมองว่าประเด็นเรื่องนโยบายต่างประเทศ อาจไม่ใช่ประเด็นที่ชาวอเมริกันให้ความสนใจ มากเท่ากับเรื่องเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของชาวอเมริกันโดยตรง ดังนั้น แม้ว่า โอบาม่าจะชนะการดีเบตในรอบนี้ แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าจะส่งผลดีต่อการลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้หรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง