ท่องโลกงานออกแบบ
เลื่อม มุก และลูกปัด ที่ปักเป็นลวดลาย เพิ่มมิติให้ผืนผ้ามัดหมี่ แสดงฝีมือการปักเย็บที่แม่นยำ พื้นฐานที่ทาลีซึ่งนักเรียนชาวกัมพูชาต้องเรียนในชั่วโมงนี้ ถือว่าเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่เธอมาศึกษาการตัดเย็บชุดไทยจนสามารถเย็บจีบหน้านางเพื่อนำไปประกอบเป็น ผ้ายกชุดไทยดุสิตได้ แต่ผู้สอนยังให้เธอเพิ่มความปราณีต และพิถีพิถันในรายละเอียดมากขึ้น เพราะนั่นคือเอกลักษณ์ของชุดประจำชาติไทย ซึ่งอีกไม่นานทาลีจะกลับบ้านเกิดพร้อมความรู้ และทักษะในการตัดเย็บชุดไทย นำไปต่อยอด และประยุกต์กับงานออกแบบของกัมพูชา
ทาลี นักเรียนชาวกัมพูชา "ได้พบเห็นใบประกาศว่ามีการเปิดให้เรียนชุดไทย ซึ่งเราได้เห็นชุดไทยหลายชุด แล้วคิดว่ามันสวยดี แม้ว่าจะบุคคลอื่นมักจจะถามว่าทำไมถึงมาเรียนของเก่าของโบราณ แต่เรามองว่าชุดเก่าก็สามารถปรับเปลี่ยนได้เยอะ"
ผ้ายกมีจีบหน้านาง ท่อนบนห่มสไบ เปิดไหล่หนึ่งข้าง คือเอกลักษณ์ของชุดไทยจักรี แต่ที่เห็นอยู่นี้นะคะคือชุดไทยจักรีประยุกต์ ที่ท่อนบนมีการจับเดรปหรือจับจีบ ส่วนท่อนล่างมีการผ่าเพื่อให้เดินสะดวก ซึ่งชุดดังกล่าวเป็นชุดที่คุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ได้รางวัลชนะเลิศชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยมในเวทีประกวดนางงามจักรวาล เมื่อปี 2531
สะดุดตาด้วยเกล็ดเลื่อมสีทองตัดกับผ้าไหมสีน้ำเงินสด ยกบ่าตั้งเพิ่มความสง่างาม ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชุดมโนราห์ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 บนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2532 และอีกหลายชุดที่สร้างชื่อให้สาวงามบนเวทีระดับโลก แม้มีจุดร่วมที่ความเป็นไทย หากแต่ชุดแต่งกายประจำชาติ บนเวทีประกวดกลับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เอกลักษณ์ดั้งเดิมอย่างสไบ และผ้านุ่งยาวกรอมเท้า เริ่มเลือนหายช่วงหลายปีหลัง แทนที่ด้วยความร่วมสมัยของรูปแบบ และรูปทรงที่เปิดเผยสัดส่วนของผู้สวมใส่
ขณะที่ นาตยา นครชัย ผู้บริหารโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี "เราจะเป็นศูนย์กลางที่เก็บความรู้ในการตัดชุดไทยเป็นจำนวนมาก และต้องการเผยแพร่ออกไป รวมถึงสรางความตระหนักถึงคุณค่าความเป็นไทยให้กับคนรุ่นหลังได้รับรู้ต่อไป"
ภาพนางงามจักรวาลคนที่ 2 ของไทย ปุ๋ย พรทิพย์ นาคหิรัญกนก สวมชุดไทยประยุกต์จักกรีสีม่วง เมื่อ 24 ปีก่อน สร้างกระแสให้ผู้รักงานออกแบบเสื้อผ้าในหลายประเทศเดินทางมาศึกษางานตัดเย็บ ถึงประเทศไทย แม้วันนี้ภาพนักเรียนต่างชาติจะบางตาไปมาก แต่เอกลักษณ์งานฝีมือที่อ่อนช้อย ไม่เหมือนใคร ก็ยังดึงผู้คนที่หลงใหล และภูมิใจในชุดไทยได้เสมอ