“แผนที่เพื่อผู้ประสบภัย” นวัตกรรมใหม่ของกลุ่ม GEN-V
เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมานับเป็นบทเรียนสำคัญในการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทั้งการติดตามข้อมูลข้าวสาร การเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติ จากเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มเยาวชนที่มีจิตอาสาต่างช่วยกันระดมทุนทั้งแรงกายและแรงใจในการร่วมกันระดมกำลังในการบรรจุถุงยังชีพ
แต่ยังมีเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นว่านอกจากความต้องการในเรื่องของถุงยังชีพสิ่งหนึ่งที่ประชาชนต้องการคือ การเรียนรู้ที่จะรับมือกับภัยพิบัติ จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นมา โดยตั้งชื่อกลุ่มของตนเองว่า คนรุ่นใหม่ใจอาสา...เพื่อผู้ประสบภัย ดำเนินการโดยมูลนิธิโกมลคีมทอง และอาสาสมัครที่เรียกตัวเองว่า GEN V ภายใต้การสนับสนุนของทางมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่มีนโยบายในการสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ทำงานจิตอาสาได้ใช้ศักยภาพและความสามารถของตนในการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยตามพื้นที่ต่าง ๆ
นางสาวเพ็ญพักตร์ ไชยสงเมือง หรือนุ่น หนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครดูแลเขตพื้นที่ ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เกิดแนวคิดสร้าง แผนที่สำหรับน้ำท่วม “เกิดจากการลงพื้นที่เมื่อปลายปีที่แล้ว 2554 โดยพบว่าปัญหาของชุมชนบางใหญ่คือ การคมนาคมที่ลำบาก โดยปกติหากขับรถยนต์เข้าไประยะทางประมาณ 10 กิโลเมตรจากกาญจนาภิเษก แต่ในช่วงน้ำท่วม ต้องนั่งเรือเข้าไป ประมาณ 25 กิโลเมตร ประกอบกับระดับน้ำค่อนข้างลึก ช่วงระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 70-80 ด้วยความยากลำบากและไกล ทำให้ความช่วยเหลือค่อนข้างเข้าไปไม่ถึง จึงนำประเด็นเหล่านี้มาใช้ในการพูดคุยกับชุมชน
จากการจัดเวทีประชุมหารือ ตามวงต่าง ๆ พบว่า 3 โจทย์หลักที่ชุมชนให้ความสำคัญในตอนนั้นคือ เรื่องของการฟื้นฟูเกษตร การฟื้นฟูสถานที่สำคัญต่างๆ ในชุมชน เช่น วัด โรงเรียน และการเตรียมความพร้อมชุมชนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ในส่วนของตัวโครงการใหญ่ เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ ต้องการสร้างอาสาสมัครในเรื่องของการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ”
ซึ่งกลุ่ม GEN- V มีองค์ความรู้เรื่องของแผนที่ และเห็นว่าการทำแผนที่ประสบภัยพิบัติจะมีประโยชน์ต่อกลุ่มคน 2 กลุ่ม คือ คนในชุมชนและอาสาสมัคร ข้อมูลของแผนที่เป็นลักษณะเชิงลึกมากกว่าเรื่องของสถานที่สำคัญ หรือการทำแผนที่ในเชิงผังเครือญาติ แผนที่เชิงสังคมทั่วไป โมเดลแผนที่ตัวนี้จะนำเสนอในส่วนของความสูงต่ำของพื้นที่ เรื่องของระดับน้ำท่วม
ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งในส่วนของดัชนีความสัมพันธ์ โดยเก็บข้อมูลในเรื่องของความสัมพันธ์เครือญาติ และสถานที่สำคัญ เช่น สถานที่อพยพก็จะถูกทำเอาไว้ในแผนที่ โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ทางมหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้ในเรื่องของการอ่านแผนที่ การทำสัญลักษณ์ การลงแผนที่ เป็นการนำเอาเรื่องยากมาประยุกต์ให้เป็นเรื่องง่ายที่สามารถใช้ได้
จากนั้นน้องพลอยหนึ่งในอาสาสมัครที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำแผนที่ เสนอวิธีการทำแผนที่โดยการลอกเป็น Layer ออกมา ซึ่งตัวโครงร่างแผนที่ทางกลุ่ม GEN- V ได้ Crop จาก Google Arch ใช้แบบ 3 A4( 3x3) จากนั้นนำเอาแผนที่ที่ได้ลงสู่ชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนชี้จุดสุดเขตของหมู่บ้านในแต่ละจุด โดยเริ่มจากหมู่ 11 สำหรับการลงพื้นที่ เพื่อสะดวกในเรื่องของการวางแผน และการจัดโซนในการเก็บข้อมูล โดยการเก็บข้อมูลทางกลุ่ม Gen-V จะเก็บข้อมูลทั่วไป และอัพเดทข้อมูลบ้านที่สร้างขึ้นมาใหม่แต่ยังไม่มีพื้นที่เพื่อเอาไปลงในแผนที่ตัวนี้ด้วย มีการสำรวจภาวะพึ่งพิง จะเก็บข้อมูลในส่วนของ ผู้ป่วย ผู้พิการ คนชรา และเด็กโดยแบ่งเป็นเด็กทารก(0-2ปี) เด็กเล็ก(2-7ปี) เพื่อสะดวกในการช่วยเหลือ
พร้อมกันนี้ยังมีการสำรวจการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของแต่ละครัวเรือนด้วย มีการสำรวจเรือของแต่ละโซนว่ามีเรือกี่ลำ เพื่อที่จะได้เห็นภาพของการช่วยเหลืออย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมาชุมชนจะมีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนเรือ รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละบ้านด้วย
นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมข้อมูลระหว่าง Index กับแผ่นเก็บข้อมูล รันคู่กัน เป็นตัวเก็บข้อมูลกับแผนที่ แบ่งย่อยออกเป็น โซน A,B,C,D, จากนั้นทำการรัน codeไว้ เพื่อเชื่อมกับฐานข้อมูลให้เห็นในแง่ของการรวมข้อมูลใหญ่ว่าบ้าน B2 อยู่ตรงไหนของแผนที่ B2 มีอะไรบ้าง ในแง่ของความละเอียด เมื่อแปรผลรวมจะสามารถบอกได้อีกว่าโซน B มีเรือกี่ลำ น้ำท่วมลึกกี่เมตร มีผู้พิการกี่คน มีเด็กกี่คน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้หมดในเรื่องของการจัดการชุมชน โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกลงในโปรแกรม Microsoft Excel ในส่วนแผ่นเก็บข้อมูลจะถูกจัดใส่แฟ้มแบ่งเป็นโซน A โซน B หากทีมอาสาสมัครหรือผู้ที่เข้ามาสอบถามข้อมูลสามารถดูข้อมูลได้ทั้งในแฟ้มเอกสารและในโปรแกรม Excel โดยแบ่งโซนตามแผนที่ โดยแผนที่นี้จะถูกเก็บไว้ที่องค์การบริหารส่วนตำบล
นุ่นให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า แผนที่ตัวนี้คนที่จะใช้ได้จริงในหมู่บ้าน คือ ทีมจัดการในชุมชน โดยแผนที่ชิ้นนี้ทางกลุ่มอาสาสมัคร Gen-V สร้างขึ้นมาโดยเป็นข้อมูลที่สามารถใช้ได้ในเวลาน้ำท่วม แต่หลักการในการทำนั้นเราสามารถปรับประยุกต์ได้กับทุก ๆ โจทย์ขึ้นอยู่กับว่าผู้ทำต้องการอะไร เช่น หากผู้ทำต้องการผังเครือญาติก็สามารถลอกใส่ Layer เข้าไปได้อีก Layer หนึ่ง หรือหากต้องการทำเรื่องของโคลนถล่มก็สามารถทำเพิ่มเข้าไปได้อีกหนึ่ง Layer เพราะหลักการทำนั้นเป็นหลักสากลทั่วไปที่สามารถทำได้
แม้การทำแผนที่เพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ใจอาสา...ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะเริ่มดำเนินการเป็นปีแรก แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นจากกลุ่ม GEN-V นั่นคือความตั้งใจของเยาวชนที่มีความตั้งใจอยากที่จะช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยอย่างจริงจัง แต่หากมองในส่วนของผู้ประสบภัยแล้วนั้น
“แผนที่” นอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องของน้ำท่วมแล้ว แต่ยังเป็นตัวเชื่อมชั้นดีในการที่จะดึงคนภายในชุมชนมาร่วมกิจกรรมในการสำรวจพื้นที่ ลูกบ้านและผู้นำชุมชนได้พูดคุยกันมากขึ้น ถือเป็นประโยชน์ 2 ต่อของการทำแผนที่ตัวนี้ โดยทางกลุ่ม GEN-V อีกก็ยังไม่หยุดนิ่งและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้ได้ในทุก ๆ พื้นที่ที่รับผิดชอบ