จับตา
นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงการปรับคณะรัฐมนตรี เป็นไปเพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายค้านกลับมองว่า เป็นการตั้งรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะในหลายกระทรวงที่พบการบริหารงานผิดพลาดและคาดจะถูกอภิปรายฯ กลับมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี
หลังจากรัฐบาลปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยพบว่า มีหลายกระทรวงที่รัฐมนตรีถูกปรับออก ทำให้ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มบุคคล และเพื่อหลบเลี่ยงการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ขณะเดียวกันมีการให้คนใหม่มาทำหน้าที่ชี้แจงแทนหากถูกอภิปรายในกระทรวงเหล่านั้น
โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังคงย้ำว่า เหตุการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และนายธีระ วงศ์สมุทร ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี ขณะที่การปรับคนใหม่เข้ามาก็เป็นไปเพื่อให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน ไม่ได้ยึดที่ตัวบุคคล และความใกล้ชิด
ท้งนี้ ในสัปดาห์หน้าฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะยังไม่วางประเด็น กระทรวง และผู้ที่ถูกอภิปรายฯ ทั้งหมด ยกเว้นปัญหาโครงการรับจำนำข้าว ที่มีความล้มเหลวชัดเจนและเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายค้านเลือกอภิปราย
หากพิจารณาจากการปรับ ครม.พบว่า มีการตั้งรับต่อการอภิปรายในเรื่องนี้ ทั้งจากการเสริมทีมกฏหมายเข้ามาช่วยงาน คือ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ที่จะมาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายและให้ข้อมูลต่อการชี้แจงแก่รัฐมนตรี ขณะที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ แม้จะอยู่ในตำแหน่งเดิมคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ได้นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ มาเป็นรัฐมนตรีช่วย มาช่วยเสริมการชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องรับจำนำข้าว
ทั้งนี้ รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ว่า หากรนำโครงการรับจำนำข้าวมาเป็นประเด็นทางการเมือง อาจมีจุดจบไม่ต่างจากกรณีทุจริตถุงกระสอบทราย หรือแม้แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะแม้โครงการจะดีอย่างไร ก็จะถูกโจมตีจากทุกฝ่าย ดังนั้น การปรับ ครม.ตั้งรับการอภิปรายฯ อาจกลายเป็นดาบสองคม