นักวิชาการแนะ
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวถึงปรากฎการณ์เลียนแบบพฤติกรรมละครและความรุนแรงในสื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้งละคร และอินเตอร์เน็ต โดยระบุว่า สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมของการกล่าวโทษครอบครัวและตัวเด็กแต่ต้องย้อนกลับมามองว่า ผู้ใหญ่สร้างพื้นที่ดีแก่เด็กเยาวชนอย่างไร
เพราะปรากฎการณ์เด็กติดเกมเกิดจากการไม่มีพื้นที่หรือกิจกรรมทางเลือกอื่นที่สร้างการยอมรับในตัวเด็ก และ เด็กทุกคนต้องการพี่เลี้ยงที่ปรึกษา ครอบครัว และ ระบบการศึกษาสามารถเล่นบทพี่เลี้ยงได้ดีหรือไม่ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่สมองจะเน้นที่การแสดงออกทางอารมณ์ จึงต้องมีการพัฒนาสมองในส่วนการรู้คิด แต่ระบบการศึกษาไทยยังไม่พัฒนาทักษะการรู้คิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา ครูจึงต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้อบรมสั่งสอนเป็นผู้อำนวยการให้เด็กสามารถคิด วิเคราะห์เป็น เพราะเด็กวัยรุ่น การสอนแบบอบรมสั่งสอนจะใช้ไม่ได้ผล
สำหรับการสร้างทักษะการเรียนรู้สำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งสำคัญ และ ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำทักษะทั้ง 3 ด้านมาใช้ให้เกิดขึ้นจริงในสังคม ประกอบด้วย 1.ทักษะด้านการสื่อสาร ซึ่งไม่ใช่แค่การรู้จักใช้สื่อ แต่ต้องรู้เท่าทันสื่อ 2. ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และ 3.ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม โดยครูต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนแบบท่องจำเป็นการฝึกปฏิบัติทดลองจริง โดยครูต้องรู้จักตั้งโจทย์เพื่อให้เด็กได้รู้จักการแก้ปัญหา
นอกจากนี้การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและการรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน เพราะมีผลการศึกษาวิจัยที่ได้ศึกษาออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมสู่ลูกหลานได้ นั่นคือ พฤติกรรมการติดบุหรี่ อบายมุข สิ่งเสพติด หรือค่านิยมทางวัตถุที่ผู้ใหญ่ก่อไว้ในสังคม จะส่งผลทางพันธุ์กรรมสู่รุ่นลูกหลานได้
ด้านนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัฐ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม เพราะก่อนหน้านี้เคยมีเด็กวัย 6 ปี เลียนแบบละครเรื่องหนึ่งด้วยการแขวนคอตายจนเสียชีวิต ซึ่งรายการโทรทัศน์ เป็นรายการที่พ่อแม่ควรให้คำแนะนำไม่ควรปล่อยให้เด็กดูคนเดียว และเนื้อหาละครบางเรื่อง ไม่ควรจัดให้อยู่ในเรตติ้ง น.13 แต่ควรอยู่ในระดับ น.18 เพราะมีฉากความรุนแรง การแสดงออกทางเพศ และภาษาในระดับสูง
นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาให้ความรู้แก่สังคม ไม่ใช่การจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์แล้วจบไป แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายครอบครัวจะพยายามให้ความรู้ในกลุ่มผู้ปกครองแต่มีกำลังที่จำกัด ดังนั้นภาครัฐจึงควรสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองให้มากยิ่งขึ้น