แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของโลกในอนาคตทางเศรษฐกิจ การเมือง และธุรกิจโลกจะประกอบด้วย 13 คำศัพท์นี้ คนไทยต้องทำความเข้าใจและหาทางออกที่รักษาผลประโยชน์แห่งชาติ
1.Friendshoring – แนวคิดทางเศรษฐกิจในยุคที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หมายถึงการย้ายฐานการผลิต การลงทุน หรือห่วงโซ่อุปทาน ไปยังมิตรประเทศหรือมีค่านิยมและนโยบายทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์หรือการพึ่งพาประเทศที่อาจเป็นปฏิปักษ์ เช่น จีน เป็นต้น
2. Resilience – ความยืดหยุ่น หมายถึงความสามารถของบุคคล องค์กร ชุมชน หรือระบบในการรับมือ ปรับตัว และฟื้นตัวจากสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือการเปลี่ยนแปลง เช่น ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ หรือความไม่มั่นคงทางสังคม
คำนี้มีการใช้งานในหลากหลายบริบท เช่น จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ การจัดการองค์กร และสิ่งแวดล้อม ในไทยเน้นการสร้างความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ในห่วงโซ่อุปทานหรือด้านเศรษฐกิจ
3. Decoupling – การแยกตัวสองกระบวนการซึ่งเคยมีความเชื่อมโยงดันมาก่อนเพื่อลดการพึ่งพาหรือความสัมพันธ์ ในบริบททางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี หรือการค้าระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดสมรรถนะและขีดความสามารถของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจทางด้านเซมิคอนดักเตอร์
4. Strategic Autonomy – ความเป็นอิสระเชิงยุทธศาสตร์ หมายถึงความสามารถของประเทศหรือกลุ่มประเทศในการตัดสินใจและดำเนินนโยบายด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการทูตไม่ต้องพึ่งพาหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจอื่น ๆ
ไทยมีแนวคิดนี้อย่างแรงกล้า เพราะไทยไม่เลือกข้าง ต้องการรักษาความยืดหยุ่นในยุทธศาสตร์ของตัวเองเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติและลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งหรือการพึ่งพาต่างประเทศมากมีที่เกินไป
5. Agency – ความสามารถของประเทศในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง เป็นคำสำคัญมากๆ ในการเมืองโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเผชิญกับมหาอำนาจ ในอาเซียนไทยมีเอเยนซีสูงเพราะเป็นประเทศก่อตั้งมีบทบาทสูง มีที่ตั้งอยู่บนจุดศูนย์กลางเอเชียอาคเนย์ ไม่มีศัตรู มีเพื่อนทั่วโลก เป็นแหล่งอาหารโลก
6. Multilateralism – พหุภาคี หมายถึงการทำงานร่วมกันระหว่างหลายประเทศหรือหลายฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาหรือบรรลุเป้าหมายร่วมกันในระดับโลก โดยไม่พึ่งพาความพยายามจากประเทศเดียวหรือกลุ่มประเทศเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ไทยยึดแนวคิดนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการทูต เศรษฐกิจ และความมั่นคง ในขณะที่มีการเคารพสิทธิ์และผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย ถือเป็นความร่วมมือมุ่งสร้างความสามัคคีและความอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกประเทศ
โดนัลด์ ทรัมป์
7. Deglobalization – กระบวนการย้อนกลับของโลกาภิวัตน์นั่นเอง คือแนวโน้มทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่ลดความเชื่อมโยงระหว่างประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก โดยเน้นภูมิภาคนิยมและผลประโยชน์ของชาติแทนการรวมตัวกันทั่วโลก ถือว่า เป็นการถอยหลังเข้าคลองเพราะเท่ากับส่งเสริมให้แต่ละประเทศโดดเดี่ยวตัวเอง อย่างที่ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการทำ ซึ่งต่างจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ซึ่งมุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้า การเคลื่อนย้ายแรงงาน การลงทุนข้ามพรมแดน และการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจ
8. Indo-Pacific Strategy – กรอบแนวคิดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทางด้านความมั่นคง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผลักดันโดยกรุงวอชิงตันเพื่อปิดล้อมจีน อาเซียนไม่ชอบวิธีการแบบนี้จึงมีความริเริ่มแนวความคิดอินโด-แปซิฟิก Asean Outlook on Indo-Pacific ขึ้นมาแทน
9.Digital Sovereignty – อธิปไตยทางดิจิทัล หมายถึงความสามารถของประเทศ องค์กร หรือบุคคลในการควบคุมและปกป้องข้อมูล เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศอื่นหรือบริษัทข้ามชาติ ไทยมีนโยบายชัดเจนและเข้มงวดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของและควบคุมข้อมูลส่วนตัวของคนไทยรวมทั้งการพัฒนาและใช้งานก้านดิจิทัลที่ไม่ต้องพึ่งต่างชาติ
10. Inclusive Growth – การเติบโตอย่างทั่วถึง หมายถึงรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อยหรือชนกลุ่มน้อย ได้รับประโยชน์และมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสร้างความยั่งยืนในระยะยาว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไทยเสนอแนวความคิดนี้ในเชิงเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว แต่มาได้รับความนิยมในยุคหลังโรคระบาดโควิดสิ้นสุด
11. Circular Economy – คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นแนวคิดทางเศรษฐกิจการลดของเสียและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้ทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ถูกใช้งานในระบบให้นานที่สุดผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การนำกลับมาใช้ใหม่ การซ่อมแซม การรีไซเคิล และการออกแบบที่คำนึงถึงวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นเช่น ใช้ผ้ารีไซเคิลในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ซ่อมแซมหรือปรับปรุงอุปกรณ์เก่าแทนการผลิตใหม่ทั้งหมด หรือส่งเสริมการแยกขยะเพื่อรีไซเคิลและนำไปใช้ประโยชน์ต่อ
โจ ไบเดน
12. Green Transition –การเปลี่ยนผ่านไปเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนต่ำ ช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ) และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง
13. Lettice network—โครงข่ายยุทธศาสตร์แบบตาข่าย เป็นแนวความคิดล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก่อนประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะหมดวาระ อีกห้าสัปดาห์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างพันธมิตรในปัจจุบันและเพื่อนพ้องของสหรัฐอเมริกา
อ่านข่าว :
จีนสวนกลับ! ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้าหลัง "ทรัมป์" ขู่ขึ้นภาษี
"ทรัมป์" ขู่ขึ้นภาษีสินค้า "เม็กซิโก-แคนาดา-จีน" ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง