“โอ๊ค”โพสเฟซบุคจี้”สุกำพล”แจงจับผู้ต้องหาเอี่ยวลอบสังหารทักษิณ
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ยังแบ่งรับแบ่งสู้ที่จะเชื่อข้อมูลการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณ ในการถามของสื่อมวลชนครั้งแรก เช่นเดียวกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอีก 2 คนด้วย ถ้านับครั้งนี้ด้วย กรณีการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกอ้างอิงมากแล้ว 5 ครั้ง โดย 4 ครั้งแรกผู้เปิดเผยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนใกล้ชิด แต่ครั้งนี้ต้นเรื่องคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ที่ขึ้นข้อความผ่านเฟซบุค และดูเหมือนข้อความล่าสุดจะกลายเป็นคำถามที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ต้องชี้แจงว่าภาพการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมอาวุธครบมือไม่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารอย่างไร ส่วน 2 ข้อความแรก คือการออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการจับกุมผู้ต้องหากับอาวุธเกี่ยวกับแผนลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ และวานนี้ (5 พ.ย.) คือการร้องขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยกเลิกการเดินทาง และขอแนวร่วมช่วยกันปกป้อง
คอลัมภ์นิสต์, นักวิชาการ และฝ่ายการเมือง ตั้งข้อสังเกตว่า ปริศนาที่แท้จริงของกรณีลอบสังหาร คือการสร้างข่าวเพื่อเบี่ยงความสนใจข้อกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าพม่าเพื่อเจรจาด้านธุรกิจ และในคราวเดียวกันมีกระแสว่า ข่าวเกิดขึ้นเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการปิดกระแสขององค์การพิทักษ์สยาม รวมถึงเจตนาปลุกมวลชนคนเสื้อแดงร่วมปกป้อง และหวังลบคำถามการไม่ให้ตำแหน่งรัฐมนตรี กับนายจตุพร พรหมพันธ์ นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ
แต่ก็มีข้อสังเกตหลายประเด็นว่า การลอบสังหารเป็นข้อเท็จจริง โดยวิเคราะห์กันว่า ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณเป็นกลุ่มนักรบเก่ายังใช้วิธี และอาวุธแบบเก่าๆ หรือนายพานทองแท้ เป็นบุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรี ย่อมมีบุคคลใกล้ชิดแจ้งข่าวเชิงลึก และที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก แม้ทางการพม่าจะรัดกุมเรื่องความปลอดภัย แต่ก็ถือเป็นเขตของว้าแดง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกอ้างถึงว่าไม่พอใจนโยบายปราบปรามยาเสพติดในอดีต
ขณะที่หากย้อนไปในอดีตข้ออ้างอิงเรื่องลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเกิดขึ้นแล้วถึง 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 คือเหตุเครื่องบินระเบิดที่ดอนเมือง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2544
ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี 2546 กรณีข่าวกลุ่มว้าแดงลงขันตั้งค่าหัว
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปี 2549 เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ชนประสานงารถตำรวจในขบวน
ครั้งที่ 4 พบรถต้องสงสัยมีระเบิดอยู่ใต้สะพานบางพลัด ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทางจากบ้านพักไปทำเนียบรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ
แทบทุกครั้งที่เกิดกรณีข่าวการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณ มักจะมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หากแต่ว่าใครจะได้ประโยชน์ หรือ เสียประโยชน์ อาจไม่สำคัญเท่าตัวบทกฎหมาย ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้ถูกต้องโปร่งใส