วันที่ (8 เม.ย.2568) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ.ครั้งที่ 14/2568 โดยนำข้อสั่งการของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ รายงานการสำรวจสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย.2568) พบว่า มีสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบ รวม 2,944 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งเป็น กลุ่มสีเขียว (เสียหายเล็กน้อย/ไม่เสียหาย) จำนวน 2,512 แห่ง กลุ่มสีส้ม (เสียหายปานกลาง) จำนวน 353 แห่ง และกลุ่มสีแดง (เสียหายหนัก) จำนวน 66 แห่ง
จังหวัดที่มีสถานศึกษารายงานผลกระทบเข้ามามากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 247 แห่ง 2.กรุงเทพมหานคร 214 แห่ง 3.ลำปาง 169 แห่ง 4.พิจิตร 163 แห่ง 5.กาญจนบุรี 157 แห่ง
ทั้งนี้ สพฐ.ได้ประสานวิศวกรอาสาซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 กว่าคน ลงพื้นที่สำรวจสถานศึกษาในกลุ่มสีส้มและสีแดงก่อน เพื่อยืนยันว่า อาคารสถานที่ในโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายสามารถใช้งานได้หรือไม่ หากอาคารใดเสียหายหนักไม่สามารถใช้งานได้ต้องสั่งหยุดใช้ไปก่อน แต่หากเสียหายปานกลางหรือเสียหายน้อย ก็จะรีบดำเนินการของบประมาณเพื่อมาซ่อมแซมให้แล้วเสร็จทันก่อนวันเปิดภาคเรียน 1/2568 ในวันที่ 16 พ.ค.นี้

สำหรับการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้น ม.1 และ ม.4 ซึ่งได้เลื่อนจากวันที่ 29 - 30 มี.ค. มาเป็นวันที่ 5 - 6 เม.ย.2568 เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว นั้น โดยภาพรวมพบว่า สามารถจัดการสอบได้เรียบร้อยดี ไม่มีการร้องเรียนหรือพบเรื่องทุจริตใด ๆ และมีการดำเนินการตามแนวปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกรณีหากเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่จัดสอบ โดยในวันที่ 4 เม.ย. โรงเรียนทุกแห่งที่เป็นสถานที่จัดสอบได้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหวแบบเสมือนจริง ซึ่งทุกโรงเรียนให้ความร่วมมือดีมากและได้ผลตอบรับที่ดีจากนักเรียนและผู้ปกครอง
ต่อไปอาจมีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุเป็นประจำทุกเดือน ไม่ใช่แค่ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวเท่านั้น ต้องมีการรับมือภัยจากเหตุอื่นๆ ด้วย เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยจากมนุษย์ แผนการอพยพ เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนและครูมีทักษะชีวิต สามารถเอาตัวรอดในสถานการณ์ไม่ปลอดภัยทั้งหลายได้
ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนที่พลาดหวังในการสอบ สามารถตรวจสอบรายชื่อโรงเรียนและจำนวนที่นั่งว่าง ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ภายในวันที่ 11 เม.ย. จากนั้นยื่นความจำนงผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 17 - 22 เม.ย. ประกาศผล 24 เม.ย. และมอบตัว 27 เม.ย.2568 ขอให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าบุตรหลานจะมีที่เรียนอย่างแน่นอน

เลขาธิการ กพฐ.ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ ด้วยเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ได้สั่งการให้ ก.ศึกษาธิการ และ สพฐ. ทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอน การเรียนรู้การป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ลงสู่ห้องเรียน
ทั้งนี้ ได้วิเคราะห์แล้วพบว่า ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ในหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ และภัยธรรมชาติอยู่แล้ว ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ 1. สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ชั้น ป.6, ม.1-3, ม.4-6) 2. สุขศึกษาและพลศึกษา (ชั้น ป.1-3, ป.6) และ 3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชั้น ป.6, ม.6)

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.)
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.)
นอกจากนี้ ยังมีในหนังสืออ่านเพิ่มเติม ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการรับมือภัยพิบัติ (ชั้นประถม-มัธยม) เพียงแต่เป็นการสอนให้ความรู้อย่างเดียว ยังไม่ได้สอนการปฏิบัติจริง จากนี้ก็จะมีการกำชับไปยังเขตพื้นที่และสถานศึกษาทุกแห่ง ให้มีการนำหลักสูตรลงสู่การปฏิบัติ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบเสมือนจริง เพื่อให้นักเรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติตนได้อย่างปลอดภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ
อ่านข่าว : สพฐ.สั่งด่วน เลื่อนวันสอบเข้า ม.1 - ม.4 หลังเหตุแผ่นดินไหว
สพฐ.เคาะวันสอบเข้า ม.1 ม.4 ใหม่ 5-6 เม.ย.นี้
นร.นับหมื่นแห่สอบเข้า ม.4 "เตรียมอุดมศึกษา" ยอดสูงสุดในรอบ 15 ปี