สช.เร่งทำความเข้าใจสิทธิปฏิเสธการรักษาเพื่อยืดการตาย
หลังจากกฎกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสิทธิการปฏิเสธการรักษาเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของสถานบริการสาธารณสุข พร้อมตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช.บอกว่า ผู้ป่วยจะต้องแสดงเจตนาตั้งแต่ตอนมีสติสัมปชัญญะ โดย สช.จะส่งแนวทางปฏิบัติไปให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศใน 1-2 สัปดาห์นี้
นพ.สุรชัย โชคครรชิตไชย รองผู้อำนวยการด้านคุณภาพและพัฒนาบุคลากรโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา บอกว่า โรงพยาบาลต้องตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย รวมทั้งตรวจสอบพยานรับรองหนังสือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว และ นำหนังสือแสดงเจตนานี้ใส่ไว้ในเวชระเบียนเพื่อแจ้งทีมรักษา โดยต้องแน่ใจว่าผู้ป่วยเข้าสู่อาการระยะสุดท้ายจริง
นพ.สุรชัย บอกด้วยว่า ถึงแม้ผู้ป่วยจะแสดงเจตนาไม่รับการรักษา แต่ทีมแพทย์ยังต้องรักษาแบบประคับประคองผู้ป่วยต่อไป เช่น ให้ยาลดความเจ็บปวด แทนการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ พร้อมดูแลสภาพจิตใจผู้ป่วย และ ญาติ จนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต