เปิดแฟ้ม! ผลตอบแทนส่วนเกินจากนโยบายจำนำข้าว 15,853 ล้านบาท ฤดูเก็บเกี่ยว 2548/2549
สรุปประเด็นสำคัญ:
• นโยบายจำนำข้าวทำให้เกิดค่าเช่าทางเศรษฐกิจหรือผลตอบแทนส่วนเกินเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากการแข่งขันในตลาดปกติ
• ผลตอบแทนส่วนเกินจำนวนมากทำให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนส่วนเกินซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวม
• นอกจากนี้ ยังมีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกระดับของการแทรกแซง
ย้อนเปิดแฟ้มงานวิจัย โครงการศึกษามาตรฐานการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต: การแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินและเศรษฐศาสตร์การเมืองของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (2553) โดย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และจิตรกร จารุพงษ์ ซึ่งนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
งานวิจัยชี้ว่า โครงการจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิต 2548/2549 ก่อให้เกิด ‘ค่าเช่าเศรษฐกิจ’ (Economic Rent) หรือ ‘ผลตอบแทนส่วนเกิน’ เมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากการแข่งขันในตลาดตามปกติ เป็นมูลค่าสูงถึง 15,853 ล้านบาท โดยชาวนาได้ผลตอบแทนส่วนเกิน 7,126.72 ล้านบาท (45%) โรงสีได้รับ 3,444.40 ล้านบาท (22%) เจ้าของโกดังและเซอร์เวเยอร์ได้ส่วนแบ่ง 802.62 ล้านบาท (5%) และผู้ส่งออกได้ส่วนแบ่ง 4,479.42 ล้านบาท (28%) นอกจากนี้ โครงการยังก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและความสูญเสียจากการเก็บรักษาข้าวเพื่อรอขายเป็นมูลค่าสูงถึง 3,277 ล้านบาท
เมื่อรวมค่าเช่าทางเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและความสูญเสียจากการเก็บรักษาข้าว ภาระขาดทุนของโครงการในปี 2548/2549 มีมูลค่าสูงถึง 19,130 ล้านบาท
ผลตอบแทนส่วนเกินจากโครงการจำนำข้าวถือเป็นการถ่ายโอนทรัพยากรจากผู้เสียภาษีและผู้บริโภคไปสู่ผู้ผลิต และยังจูงใจให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Rent-seeking behavior) ของตัวละครที่เกี่ยวข้อง เช่น พฤติกรรมเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและจดทะเบียนพื้นที่เกินจริงของชาวนา การสวมสิทธิข้าวไทยและเวียนเทียนข้าวของโรงสี พฤติกรรมฮั้วประมูลของผู้ส่งออก และการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกระดับของการแทรกแซง ถือเป็นการถลุงใช้ทรัพยากรของสังคมในทางที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่มีค่า
** อ่านตารางเปรียบเทียบข้อมูล ในไฟล์ Word **