ภาพลักษณ์
เล็บมือสีเทาเข้าชุดกับเดรสสีชมพูที่มีลวดลายชายกระโปรงสีเทาคงพอสะท้อนได้ถึงความพิถีพิถันในการแต่งกายของสุภาพสตรีหมายเลข 1 มิเชล โอบาม่า ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมานอกจากบทบาทหลังบ้าน เธอยังถูกจับตาทั้งเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม และ กลายเป็นผู้นำแฟชั่นของผู้หญิงทั่วโลกไปโดยปริยาย
ทุกครั้งที่ปรากฎตัว มิเชล มักมาในชุดแนวแปลกตาที่เน้นลูกเล่นเด่นด้วยสีสัน และ ลายพิมพ์ จนหลายคนคิดไปถึงเสื้อผ้าแบรนด์ดัง หากส่วนใหญ่เป็นฝีมือดีไซเนอร์รุ่นใหม่สัญชาติอเมริกัน หลากหลายเชื้อชาติที่แจ้งเกิดชั่วข้ามคืน เพราะได้มิเชลเป็นนางแบบในชีวิตจริง เช่นเสื้อผ้าของ Isabel Toledo นักออกแบบสาวลูกครึ่งคิวบาอเมริกัน , Jason Wu นักออกแบบชาวไต้หวัน , Rachel Roy ดีไซเอร์เชื้อสายอินเดีย และ Tracy Reese นักออกแบบแอฟริกันอเมริกัน
รวมถึง ฐากูร ดีไซเนอร์อเมริกัน เชื้อสายไทย ที่ชุดลายดอกสีแดงสดของเขาสร้างความประทับใจให้กับ สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของอเมริกา ที่เธอเลือกใส่เมื่อครั้งสามีชิงชัยในสนามเลือกตั้งประธาธิบดีสมัยแรก ทั้ง 2 ชุดล้วนมาจากฝีมือ และความคิดของฐากูร ในชื่อแบรนด์เดียวกันที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ดีไซเนอร์ชาวไทยเล่าว่า มิเชล รู้จักกับแบรนด์ของเขาก่อนจะได้เป็นภริยาประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเธอชื่นชอบในเรื่องดีไซน์ และรูปทรงที่สวยด้วยการตัดเย็บเข้ารูปอย่างปราณีต และ ยังคงสั่งตัดเสื้อผ้ากับเขาเรื่อยมา
ไม่เพียงขึ้นปกนิตยสารชื่อดังในฐานะสุภาพสตรีหมายเลข 1 แต่มิเชล ยังสนิทสนมกับ แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการนิตยสาร vogue ความสัมพันยังชัดเจนเมื่อเจ้าแม่แฟชั่นสหรัฐตั้งตัวเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตตัวยง ถึงขั้นยกเลิกงานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ดัง เพื่อร่วมฟังงานการระดมทุนหาเสียงให้กับพรรคการเมืองในดวงใจมาแล้ว ไม่เพียงช่วยหาเสียงให้สามีของเพื่อนรัก แต่การชื่นชมสไตล์การแต่งตัวในแบบฉบับของของมิเชลผ่านสื่อในมือ ยังกลายเป็นกำลังสำคัญในการหาเสียงทุกครั้ง
การเลือกใช้เสื้อผ้าที่ไม่หรูหราฟุ่มเฟือยจนเกินไป และ มักอุดหนุนเสื้อผ้าของดีไซเนอร์สัญชาติอเมริกันจึงไม่ได้เป็นเพียงรสนิยมการแต่งกายของภริยาผู้นำประเทศมหาอำนาจ แต่ยังสะท้อนภาพลักษณ์ติดดินที่คนทั่วไปจับต้องทำตามได้ จนเรียกคะแนนเสียงให้สามีได้เสมอมา เธอถูกจับตาในฐานะพลังสำคัญที่อยู่ข้างหลังคอยผลักดันให้บารัค โอบามา ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงต่อไปในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2