ตรวจสอบโครงการประปาโคราชมูลค่า 3,000 ล้านบาท หลังถูกคัดค้านจากกลุ่มรักษ์ลำแชะ
สถานีสูบน้ำดิบและท่อส่งน้ำลำแชะที่สร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว ตามโครงการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเทศบาลนครราชสีมา มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถผันน้ำลำแชะเพื่อนำไปผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
หลังกลุ่มผู้ใช้น้ำในนาม กลุ่มรักษ์ลำแชะ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เทศบาลนครนครราชสีมา ระงับโครงการผันน้ำจากลำแชะ โดยอ้างว่าอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่
"ผลสรุปของคำพิพากษา คือ ให้ทางเทศบาลสามารถทำโครงการต่อได้ แต่ห้ามไม่ให้นำน้ำจากอ้างเก็บน้ำลำแชะมาผลิตน้ำประปา เว้นแต่ว่าจะได้มีการสำรองน้ำไว้เพียงพอสำหรับชาวคอนบุรี โชคชัย เป็นต้น" ธีรพล รัตนประยูร ประธานกลุ่มรักษ์ลำแชะ
การผันน้ำจากลำแชะเพื่อนำไปผลิตประปา ปีละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรของทางเทศบาลนครนครราชสีมา โดยที่ไม่มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ใช้น้ำในอำเภอครบุรี โชคชัย และอำเภอปักธงชัย ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2540 คือเหตุผลที่กลุ่มรักษ์ลำแชะใช้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
สอดคล้องกับความเห็นของผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ที่มองว่า โครงการขนาดใหญ่น่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินโครงการ รวมทั้งศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
"ลักษณะของโครงการเป็นการผันน้ำข้ามพื้นที่ เพราะฉะนั้นการชี้แจงต่างๆจะต้องชัดเจน ถามว่าผิดไหม ก็คงไม่ผิดวัตถุประสงค์ แต่ก็สามารถปรับวัตถุประสงค์ได้ โดยดูความจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ได้เข้าข้างใครนะครับ" อนุมาศ ทองแถม ผอ.สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา
"การที่บอกว่า ห้ามนำน้ำมา ยกเว้นจะได้มีการสำรองไว้ ตรงนี้เราอุทธรณ์ไปเพื่อขอให้เขาตัดส่วนนี้ออกไป" ธีรพล รัตนประยูร ประธานกลุ่มรักษ์ลำแชะ
โครงการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเทศบาลนครราชสีมา มูลค่า 3,184 ล้านบาท เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ผลักดันโครงการ
โดยจะทำการผันน้ำผ่านระบบท่อจากเขื่อนลำแชะปีละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรไปยังแหล่งผลิตน้ำประปาบ้านใหม่หนองบอน ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ระยะทางกว่า 70 เมตร ก่อนจะจ่ายน้ำไปยังชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา แต่จนถึงขณะนี้เทศบาลนครนครราชสีมา ยังไม่สามารถผันน้ำลำแชะได้
สำหรับพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเมื่อปี 2548 หลังปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตประปาลดลงเหลือไม่ถึง 20 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่าง 310 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เทศบาลนครนครราชสีมา ใช้ลำแชะเป็นแหล่งน้ำดิบสำรอง แต่ยังมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตเมืองและเกษตรกร จนนำไปสู่การฟ้องร้อง