อาเซียนแตกเป็น 2 ขั้ว
ความขัดแย้งนั้นรุนแรงถึงขนาดที่ว่าการแถลงปิดประชุมของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในฐานะเจ้าภาพก็เป็นไปอย่างเคร่งเครียด เพราะก่อนหน้านี้รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ได้โต้แย้งว่าไม่มีฉันทามติเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
4 ใน 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไนต่างอ้างอำนาจอธิปไตย หรือความเป็นเจ้าของเกาะและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงจีน ผู้อ้างสิทธิรายใหญ่ ซึ่งกำลังผงาดสู่สถานะมหาอำนาจใหม่ของโลก
จีนนั้นขัดแย้งรุนแรงกับทั้งเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่ง 2 ชาติสมาชิกอาเซียนนี้ก็มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง ส่วนกัมพูชานั้นไม่ได้อ้างสิทธิแข่งกับใคร แต่ถือหางจีน
สหรัฐอเมริกาประกาศตลอดมาว่าไม่ต้องการเข้าข้างชาติใดทั้งนั้น แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯก็บอกว่าทนไม่ได้ ถ้าเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้จะถูกปิดหรือขัดขวาง ซึ่งเป็นการส่งสัญญานเตือนไปยังจีนโดยปริยาย
อาเซียนก่อตั้งขึ้นมาด้วย "ปฏิญญากรุงเทพ" เมื่อปีคริสตศักราช 1967 โดยวาระเร่งด่วนเฉพาะหน้า ณ เวลานั้นคือ สกัดกั้นการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน่ ซึ่งขณะนั้นโลกเริ่มก่อตัวของระบบ 2 ขั้วหรือ "ไบ-โพล่า" ที่ต่อมาเป็นสงครามเย็น
เมื่อสงครามเย็นหมดไป "ศัตรูร่วม" หรือ "คอมม่อนเอ็นนีมี่" ที่ทำให้ชาติอาเซียนมารวมกันได้ก็ไม่เหลือ ความแตกต่างหลากหลายแห่งผลประโยชน์ที่ชักนำให้แต่ละชาติสมาชิกแข่งกันเอง จึงทำให้ความฝันที่จะแปลงกลุ่มภูมิภาคแห่งนี้ให้มีความเป็นปึกแผ่นแนบแน่นแบบสหภาพยุโรปหรืออียูจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกเมื่อทั้งจีน และสหรัฐอเมริกา 2 มหาอำนาจในโลกปัจจุบันเข้ามาอาเซียนด้วยเป้าหมายถ่วงดุลอำนาจ หรือ "บาล้านซ์ออฟเพาเวอร์"
ดังนั้นการปิดประชุมในกัมพูชาเมื่อวานนี้จึงมีลักษณะคล้ายกับว่าอาเซียนที่มุ่งหวังจะผันตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจแบบตลาดเดียว หรือ "ซิงเกิ้ลมาร์เก็ต" ในอีก 3 ปีข้างหน้า ได้แตกออกเป็น 2 ขั้วเสียแล้ว