ทีดีอาร์ไอเสนอมาตรการแก้ปัญหาค่าจ้างเหลื่อมล้ำ แก้โครงสร้างและแรงจูงใจ ปรับเป็นเปอร์เซ็นต์

เศรษฐกิจ
27 พ.ค. 54
10:44
12
Logo Thai PBS
ทีดีอาร์ไอเสนอมาตรการแก้ปัญหาค่าจ้างเหลื่อมล้ำ แก้โครงสร้างและแรงจูงใจ ปรับเป็นเปอร์เซ็นต์

ผอ.วิจัยฯทีดีอาร์ไอเสนอกลไกแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานระยะยาวต้องกำหนดให้สถานประกอบการมีโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน เปิดทดสอบเพิ่มค่าจ้างได้ตามมาตรฐานฝีมือ

  ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  กล่าวเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมกรณีทางออกแก้ปัญหาเรียกร้องปรับค่าจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นเสมอโดยโครงสร้างค่าจ้างภาพรวมยังจำเป็นต้องปรับให้กับแรงงานระดับฐานล่างแต่ควรใช้การปรับเป็นเปอร์เซ็นต์และกำหนดระยะเวลาในการปรับที่ชัดเจนช่วยลดผลกระทบโครงสร้างค่าจ้างและศักยภาพการจ่ายของนายจ้าง เมื่อมีการเตรียมตัวล่วงหน้าโดยเฉพาะในนายจ้างในธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งมีสัดส่วนรองรับแรงงานจำนวนมาก  แต่มีศักยภาพในการจ่ายได้น้อย    เพื่อไม่ให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปกระทบกับโครงสร้างจ้างในส่วนของแรงงานที่ทำงานอยู่เดิมก็ควรมีการแก้ปัญหาในระยะยาว อาทิ การเพิ่มกลไกให้นายจ้างที่มีแรงงานจำนวนพอสมควรต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง รวมทั้งใช้มาตรฐานวิชาชีพกำกับ ให้ลูกจ้างสามารถทดสอบเพิ่มระดับมาตรฐานฝีมือว่ามีความเชี่ยวชาญอยู่ในระดับใด(แต่ละระดับมีอัตราค่าจ้างกำกับไว้) เช่น ระดับ 12 3 ก็จะได้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามความเชี่ยวชาญและสามารถ เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนายจ้างได้แรงงานคุณภาพ ลูกจ้างได้เพิ่มศักยภาพตนเอง และวางแผนอนาคตได้

  ดร.ยงยุทธกล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 7-8ปีที่ผ่านมาไม่ใช่การปรับที่สะท้อนความเป็นจริง  การปรับฐานค่าจ้างแรงงานควรปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะดีกว่าการปรับเป็นตัวเงินเท่ากันหมดเพราะการปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะทำให้แรงงานทั้งประเทศได้รับการปรับเพิ่มค่าจ้างเท่ากันแต่จำนวนเงินที่ได้รับมากน้อยต่างกันตามฐานรายจ่ายและค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับแต่ละคนซึ่งแตกต่างกันไปตามมาตรฐานค่าครองชีพของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์จังหวัด เช่นกรุงเทพฯกับภาคอีสาน เป็นต้น  และยังทำให้ผู้ประกอบการนักลงทุนมีข้อมูลตัดสินใจได้ว่าเขาจะไปลงทุนที่ไหน  อย่างไร การแก้ปัญหาต้องให้แหล่งจ้างงานย้ายไปหาคน(แรงงาน)ไม่ใช่คนย้ายไปหาแหล่งจ้างงานซึ่งหลายอุตสาหกรรมสามารถทำได้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงทรัพยากรจากท้องถิ่น ตรงนี้จะช่วยทำให้ต้นทุนทางสังคมของแรงงานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

  ดร.ยงยุทธเสนอว่า เพื่อไม่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นไปจนชนเพดานของโครงสร้างค่าจ้างซึ่งจะมีผลกระทบต่อแรงงานที่ทำงานอยู่เดิม ควรมีการกำหนดกฎหรือระเบียบให้สถานประกอบการที่มีแรงงานจำนวนหนึ่ง(อาจเป็น 200 คน) ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพื่อสร้างความชัดเจนสร้างแรงจูงใจ  ทำให้แรงงานมีเป้าหมายในการทำงานสามารถวางแผนอนาคตของตนเองได้ ว่าสามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้แค่ไหน ตำแหน่งอะไรรายได้เท่าไหร่  ซึ่งสถานประกอบการเอสเอ็มอียังไม่มีเรื่องเหล่านี้  

  การแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานในระยะยาวนอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังต้องคงไว้เพราะเป็นฐานของแรงงานใหม่ที่อยู่ในฐานล่างของโครงสร้างค่าจ้างแต่สำหรับแรงงานเก่าก็ต้องได้ควรการคุ้มครองและสามารถมีค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามความรู้ทักษะ ความสามารถ ดังนั้นการนำกลไกที่กำหนดให้สถานประกอบการควรมีโครงสร้างค่าจ้าง และการนำกลไกทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติมาใช้ จะช่วยทำให้ลูกจ้างและนายจ้างพึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย  

 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง